ป.ป.ช. เผยภาพรวมอดีต ส.ส.ยื่นบัญชีทรัพย์สินหลังพ้นเก้าอี้แล้วกว่า 70% แต่ยังมีค้างอีกเป็น 100 คน รวมถึง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ขอยืดเวลา และยังไม่ได้ยื่น ครบกำหนด 18 มิ.ย.นี้ เตรียมเปรียบเทียบขาเข้า-ขาออก แจ้งถือครองหุ้น ITV หรือไม่
วันที่ 12 มิ.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส. กรณีพ้นจากตำแหน่ง ว่า ตามกฎหมายต้องยื่นทรัพย์สินภายใน 60 วันหลังจากพ้นตำแหน่ง ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยขณะนี้มีการยื่นทรัพย์สินมายัง ป.ป.ช.แล้ว ประมาณ 384 ราย หรือคิดเป็นกว่า 70 % แล้ว ที่เหลือที่ยังไม่ได้ยื่นอีกประมาณ 100 กว่าบัญชี ซึ่งมีหลายรายที่ขอขยายเวลาการยื่น ที่ตามกฎหมายสามารถขอขยายได้ 30 วัน โดยจะครบในวันที่ 18 มิ.ย.นี้
สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นจากตำแหน่งนั้น มีหลักการตรวจสอบคือ เปรียบเทียบกับบัญชีขาเข้ารับตำแหน่งว่ามีทรัพย์สินใดที่เพิ่มมากขึ้นผิดปกติหรือไม่ หรือมีหนี้สินลดลงผิดปกติหรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญของการตรวจสอบ และหากพบเหตุอันควรสงสัยว่าผิดปกติจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเชิงลึก หรือหากตรวจสอบพบว่าถึงขนาดมีเหตุร่ำรวยผิดปกติก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ย้อนคดีหุ้นสื่อ ม.151 ของธนาธร สู่คลิปประชุมฯ ไอทีวี พิธามีโอกาสรอดไหม
ส่องโทษ หากผิด กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 หลัง กกต. เล็งสอบ "พิธา"
ถ้าบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ถูกปลอมแปลง ผู้เกี่ยวข้องมีโทษอย่างไร
เมื่อถามว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.มาแล้วหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ยังไม่ได้ยื่น และทราบว่ามีหนังสือขอขยายเวลาส่งมาที่ ป.ป.ช. ซึ่งจะครบกำหนดยื่นในวันที่ 18 มิ.ย.นี้เช่นกัน
เมื่อถามว่า หากครบวันที่ 18 มิ.ย. ยังจะสามารถขอขยายเวลาได้อีกหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ความจริงในกฎหมายไม่มีเขียนว่าให้ขยายได้อีก แต่อยู่ที่ผู้ยื่น โดยดูที่เจตนาว่ายื่นล่าช้าหลังจากพ้นเป็นเพราะอะไร เราดูเจตนาเป็นหลัก หลักกฎหมายที่เขียนไว้คือ หากมีเจตนาปกปิด อำพราง ซ่อนเร้น ทรัพย์สินหรือหนี้สินและตรวจพบว่ามีพฤติการณ์เช่นนั้นจึงจะสามารถวินิจฉัยชี้มูลความผิดได้
เมื่อถามถึงกรณีนายพิธา ถูกสังคมจับตาเป็นพิเศษ ทาง ป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบเข้มข้นเป็นพิเศษหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเรื่องของการตรวจสอบโดยปกติ ป.ป.ช.ไม่ได้เพ่งเล็งแต่อย่างใด หลักการตรวจสอบคือ ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการเดียวกัน มีบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักการ
เมื่อถามว่า การที่นายพิธา ยื่นทรัพย์สินเพิ่มในส่วนของหุ้นไอทีวีมานั้น ป.ป.ช.มีการตรวจสอบคืบหน้าอย่างไร นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ สำหรับเรื่องหุ้นไอทีวีนายพิธาได้ยื่นเพิ่มเติมในภายหลังเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 62 และเมื่อมีข่าว มีข้อมูล เกี่ยวกับการข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ก็จะต้องไปตรวจสอบว่าเป็นหุ้นไอทีวีหรือไม่ หรือหุ้นอะไร มีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นการยื่นในฐานะผู้จัดการมรดกตามที่เขาหมายเหตุเอาไว้หรือไม่ มีคำสั่งศาลหรือไม่ ตรงนี้เราต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง
“ส่วนกรณีที่นายพิธาโอนหุ้นไอทีวีล่าสุดตามที่เป็นข่าวนั้น เราก็ต้องคอยดูข้อมูลประกอบในกรณีที่นายพิธาจะยื่นทรัพย์สินกรณีพ้นตำแหน่ง ส.ส. โดยไปดูประกอบกันระหว่างวันที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง เปรียบเทียบกัน เพื่อดูว่ายังมีอยู่หรือไม่ แต่ขณะนี้นายพิธายังไมได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นตำแหน่งเข้ามา จึงยังไม่ได้ดู หากยื่นมาแล้วไม่มีหุ้นไอทีวี เราก็ต้องดูว่าหุ้นที่หายไปมีมูลค่าเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่อาจจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมได้ถ้าเห็นว่าเป็นสาระสำคัญ” นายนิวัติไชย กล่าว