ปชป.ย้ำ! ไม่ร่วม "รัฐบาลก้าวไกล" เหตุไม่เห็นด้วย ยกเลิก-แก้ไข ม.112 ซัดคนปล่อยข่าวดิสเครดิต ชี้สมาชิกพรรคให้ความเห็น โหวต "พิธา" เป็นนายกฯ เป็นเรื่องส่วนตัว เผยเตรียมประชุม กกบห.พรรค หารือเลือกหัวหน้า ปชป.คนใหม่ 24 พ.ค.นี้
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงกรณีกระแสข่าวร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ว่า ขณะนี้พรรคยังไม่มีการประชุมกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.เพื่อพิจารณา กรณีที่มีข่าวว่ามีการเจรจาพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ นั้น เป็นเรื่องบิดเบือนทั้งสิ้น ซึ่งการปล่อยข่าวลักษณะดังกล่าว เป็นการดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์
พร้อมย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมือง ปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 96 ระบุชัดว่า ให้สมาชิกและกรรมการบริหารพรรคพิจารณาร่วมกันว่าจะร่วม หรือไม่ร่วมรัฐบาล หรือ ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ไม่มีใครสามารถใช้อำนาจเพียงคนหนึ่งคนใด ไปเจรจาเกี่ยวกับการตัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนที่อาจจะมีสมาชิกพรรค และอดีต ส.ส. ออกมาเรียกร้องให้โหวตให้พรรคก้าวไกล ล้วนเป็นในนามส่วนตัว แต่ตนขอชี้แจงในนามพรรค
สำหรับการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลนั้น ย้ำว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งลำดับ ที่ 1 จึงเป็นพรรคที่เป็นแกนนำหลักในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ไม่ไปก้าวล่วง และไม่มีสิทธิ์ไปทักท้วง ข้อตกลงใดๆ
ส่วนกรณีการแก้ไข ม.112 พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ไปก้าวล่วง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเสนอแก้ไข หรือยกเลิก ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคนั้นๆ แต่อดุมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการยกเลิก หรือ แก้ไขม.112
ทั้งนี้หากประชาชน ได้ไปศึกษารายละเอียด ร่างแก้เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่มีหลักฐาน ระบุไว้ใช้เจนว่า ให้มีการยกเลิก ม.112 พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยตัวของกฎหมาย ม.112 ไม่สามารถไปทำร้ายใครได้ หากไม่มีการกระทำผิดเข้าข่าย
ซึ่งหากพรรคก้าวไกล จะเปลี่ยนแปลงประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ก้าวล่วง แต่ต้องมาต่อสู้กันในระบบรัฐสภา โดยยืนยัน ส.ส.ปชป. 24 คน จะติดตามการยกเลิก หรือแก้ไข ม.112 จึงขอให้โชคดีในการจัดตั้งรัฐบาล และทำอย่างเต็มที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "ชวน" ปัดพูดถึง "พิธา" ปมกดดัน ประชาธิปัตย์ โหวตนายกฯ
• "ชวน" จ่อถก "จุรินทร์" แก้จุดด้อย ปชป. หลังแพ้ยับ ยอมรับคะแนนน้อยกว่าที่คาด
• "เศรษฐา" เรียกร้อง "ภูมิใจไทย-ปชป." แสดงจุดยืน โหวตเลือก "พิธา" เป็นนายกฯ
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ณ เวลา นี้ กลับมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการพรรค เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออก และจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 24 พ.ค. นี้ เพื่อหารือแนวทางในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ต่อไป
ส่วนการนำเสนอข่าว มีการล็อกตัวใครเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ทุกคนมีสิทธิ์หมด แม้จะแพ้การเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะปิดพรรค และหยุดดำเนินกิจการทางการเมือง เพราะประชาธิปัตย์ เป็นสถานบันมากว่า 77 ปี แม้นโยบายไม่หวือหวา แต่ยั่งยืน พร้อมจับมือกัน เพื่อให้พรรคก้าวไปข้างหน้าได้ และวันหนึ่งก็จะกลับมา
นอกจากนี้ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึง กรณี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่พาดพิงพรรคที่แพ้การเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากย้อนกลับไปเมื่อนายวิโรจน์ แพ้การเลือก พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยไปด้อยค่านายวิโรจน์แม้แต่น้อย ซึ่งเชื่อว่าพ่อแม่คงมีการสั่งสอนมาดี แต่ด้วยตัวของนายวิโรจน์ ที่มีสันดานดิบ ก้าวร้าว ด้อยค่า คนอื่น คำพูดที่ออกมาแต่ละอย่าง เสียดสี ด้อยค่าพรรคการเมืองอื่น
โดยพรรค ประชาธิปัตย์ ยืนยันที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ด้วยหลักความบริสุทธิ์ ตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนความพร้อมในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านนั้น แม้พรรคประชาธิปัตย์ จะมีเพียง 24 เสียง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ย่อมเป็นการทำหน้าที่เพื่อประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นมาแล้วทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน สิ่งไหนที่ผลักดันได้ ในบางนโยบายก็จะพยายามทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด
ส่วนการจะการจับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย เป็นฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ยังไม่สามรถตอบได้ เช่นเดียวกับการพูดคุยเพื่อร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ในกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และไม่มีเรื่อง ม.112 มาเกี่ยวข้องหรือไม่ จะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่ายังไม่สามารถตอบในนามส่วนตัว ต้องเป็นมติพรรคเท่านั้น แต่ย้ำว่า การตัดสินใจในทุกเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ ยึดถือประชาชนเป็นที่ตั้ง และย้ำจุดยืนในหลักการสนับสนุน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุข