svasdssvasds

เปิด 4 สูตรเลือกนายกฯ สูตรจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขสำคัญ อยู่ที่การโหวตของ ส.ว.

เปิด 4 สูตรเลือกนายกฯ  สูตรจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขสำคัญ อยู่ที่การโหวตของ ส.ว.

เปิด 4 สูตรจัดตั้งรัฐบาล สูตรการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ซึ่งต้องการเสียง 376 จากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มาบวกกัน โดยเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่สามัญสำนึกของ ส.ว. หรือ พรรคคะแนนเสียงอันดับ หาเสียงจาก ส.ส. ครบ 376 ก็สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ ไม่ต้องง้อเสียงจาก ส.ว.

ปิดฉากไปแล้ว สำหรับการ เลือกตั้ง 2566 ซึ่ง พรรคก้าวไกล ได้เสียง ส.ส. มากที่สุดที่ 152 เสียง และ ณ เวลานี้ มีเพียง 6 พรรคที่เสนอชื่อนายกฯ ได้  ซึ่งนั่นก็คือ ก้าวไกล,เพื่อไทย , ภูมิใจไทย , พลังประชารัฐ ,รวมไทยสร้างชาติ และ ประชาธิปัตย์ ผ่าน เกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่จะนำมาพิจารณากลางสภาผู้แทนราษฎรได้ ต้องมาจากพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป 

แม้ตอนนี้จะชัดเจนแล้วว่า “พรรคก้าวไกล” ชนะการเลือกตั้ง 2566 ได้ ส.ส. มากที่สุด จำนวน 152 คน แต่ด้วยกติกาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้อำนาจ "ส.ว." ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมโหวตเลือกนายกฯ กับ "ส.ส." ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้พรรคที่จะเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” ได้ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก "ส.ส." และ "ส.ว." 376 คนขึ้นไป "ส.ว." จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ในการจัดตั้งรัฐบาลไปโดยปริยาย  

และด้วยเงื่อนไขพิเศษนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่า จะเกิด “ศึกจัดตั้งรัฐบาล” ที่ร้อนระอุ ซึ่งจากการวิเคราะห์  มีความเป็นไปได้ 4 สูตรหลักๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล 

เปิด 4 สูตรเลือกนายกฯ คนที่ 30 สูตรจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การโหวตของ ส.ว.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สูตรที่ 1 + เสียง ส.ว. 66 เสียง 

เนชั่นวิเคราะห์ ว่า พรรคก้าวไกล 152 เสียง  + พรรคเพื่อไทย  141 เสียง + พรรคประชาชาติ 9 เสียง + พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง + พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง + พรรคเป็นธรรม 1 เสียง = 310 เสียง ชู “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ

สูตรที่ 1 เป็นสูตรที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ได้ประกาศไว้ในวันแถลงข่าว หลังทราบผลแน่ชัดแล้วว่า “พรรคก้าวไกล” ได้จำนวน "ส.ส." มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการแท็กทีมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ในการจัดตั้งรัฐบาล

และแม้ว่าตัวเลข 310 เสียง จะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่ก็ยังไม่เพียงพอเลือกนายกฯคนที่ 30 เพราะ ยังคงขาดอีก 66 เสียง  โดย “พรรคก้าวไกล” หวังว่าจะใช้ความชอบธรรมในการเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้ง และรวมเสียง "ส.ส." ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร กดดันไม่ให้ ส.ว. ฝืนมติประชาชน แต่ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้หลายพรรคการเมืองรวมถึงประชาชน ได้วิงวอนให้เหล่า "ส.ว." ร่วมแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 272 ปิดสวิตช์ตัวเองในการเลือกนายกฯ เพื่อความเป็นธรรม รักษาหลักการของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เป็นผล  แม้ที่ผ่านมาภาพลักษณ์โดยรวมของ "ส.ว." ชุดนี้จะป่นปี้ ถูกแซะ ถูกถากถาง ถูกบูลลี่ แต่หลายคนก็ยังคงอ้างว่า ได้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ แม้สิ่งที่ทำอยู่จะขัดหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และทำให้การดำรงตำแหน่งขาดความสง่างามก็ตามที

เปิด 4 สูตรเลือกนายกฯ คนที่ 30 สูตรจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การโหวตของ ส.ว.

แต่ด้วยกระแส “เสรีนิยมแลนด์สไลด์” ที่กำลังมาแรง ทำให้สูตรนี้ยังพอมีลุ้น เป็นสูตรวัดใจ "ส.ว." ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้งว่า ต้องการให้ประวัติศาสตร์จดจำ "ส.ว. ชุดที่ 12" ไว้ว่าอย่างไร

สูตรที่ 2 : ปิดสวิตช์ ส.ว.

พรรคก้าวไกล 152 เสียง + พรรคเพื่อไทย  141 เสียง + พรรคประชาชาติ 9 เสียง + พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง+ พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง + พรรคเป็นธรรม 1 เสียง + และตัวแปรสำคัญ พรรคภูมิใจไทย 70 เสียง = 380 เสียง ชู “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ

ส่วนสูตรที่ 2 นี้ “โมเดลโดยภาพรวม” ก็เหมือนกับสูตรแรก แต่มีเสียง “พรรคภูมิใจไทย” 70 เสียง เข้ามาเพิ่ม ทำให้ได้เสียงสนับสนุนเกิน 376 ของทั้ง 2 สภา เพื่อ "ปิดสวิตช์ ส.ว." และเลือกนายกฯ โดยไม่ต้องง้อเสียง ส.ว. ใดๆ 

แต่ด้วยท่าทีของ “พรรคก้าวไกล” กับ “ภูมิใจไทย” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันในหลายๆ  เวทีดีเบต แม้ที่ผ่านมา “พรรคก้าวไกล” จะไม่ถึงขั้นประกาศอย่างชัดเจนเป็นสัญญาประชาคมว่า “ไม่เอาพรรคภูมิใจไทย” แต่อย่างที่รู้ๆ กัน ถ้าเลือกได้ “ก้าวไกล” ก็คงไม่อยากร่วมรัฐบาลกับ “ภูมิใจไทย”

ส่วน “ภูมิใจไทย” แม้ในหลายๆ เวทีดีเบต จะประกาศ “ไม่เอาก้าวไกล” แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 แม้ “อนุทิน” จะเคยให้สัญญาประชาคม “ไม่เอาบิ๊กตู่” แต่สุดท้ายก็ยอมเข้าร่วมรัฐบาลด้วยในที่สุด ทำให้สังคมไม่ได้ให้น้ำหนักกับคำประกาศหรือสัญญาประชาคมต่างๆ ของ “พรรคภูมิใจไทย” เท่าไหร่นัก

อีกทั้ง “ภูมิใจไทย” ตั้งเป้าว่า จะต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น ทำให้สูตรนี้มีความเป็นไปได้ หลักๆ ก็ขึ้นอยู่กับการต่อรอง ซึ่ง “ก้าวไกล” จะยอมรับข้อเสนอของ “ภูมิใจไทย” ได้มากน้อยขนาดไหน

แต่ถ้า “ภูมิใจไทย” ไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง โอกาสที่สูตรนี้จะล่มก็มีสูงเช่นกัน เพราะ “ภูมิใจไทย” ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ อยู่ รวมถึงข้อเสนอ ขอเปลี่ยน “พรรคแกนนำฯ” จาก “พรรคก้าวไกล” เป็น “พรรคเพื่อไทย” ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

อนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อีกหนึ่งตัวแปร เลือกนายกฯ เปิด 4 สูตรเลือกนายกฯ คนที่ 30 สูตรจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การโหวตของ ส.ว.


สูตรที่ 3 : นายกฯ เสียงข้างน้อย  : อนุรักษ์นิยม คืนชีพเหมื่อนตายแล้วเกิดใหม่ แต่ต้องใช้เสียง  +ส.ว. 250 เสียง)

พรรคภูมิใจไทย 70 เสียง + พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง + พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง + พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง + พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง + พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง = 183  เสียง ชู “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นนายกฯ


สูตรนี้มีการวิเคราะห์ดักทางกันไว้ก่อนการเลือกตั้งแล้ว เพราะแทบไม่มีทางเป็นไปได้ ที่ “ฝั่งรัฐบาลเดิม” จะได้ ส.ส. ในการเลือกตั้งสูงกว่า “ฝั่งฝ่ายค้านเดิม” ดังนั้นทางรอดก็คือ “ฝั่งรัฐบาลเดิม” ต้องผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น โดยอาศัยความได้เปรียบจากเสียง ส.ว. 250 คน เข้ามาสนับสนุน ช่วงแรกยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก่อนค่อยๆ ทยอยไปสอย “ส.ส. งูเห่า” มาเติมเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลในภายหลัง  
ซึ่งโมเดลนี้ เดิมทีคาดว่าจะชู “บิ๊กตู่” หรือไม่ก็ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ แต่ด้วยผลการเลือกตั้งที่ออกมา จำนวน ส.ส. ของ “พรรคภูมิใจไทย” เป็นตัวเลขที่ลงตัวในทุกสมการ ส่งผลให้กลายเป็นพรรคตัวแปรที่สำคัญ ที่มีอำนาจต่อรองสูงมาก ในระดับขอ “เก้าอี้นายกรัฐมนตรี” ได้เลยทีเดียว


สูตรที่ 4 : พรรคอันดับ 2 จัดตั้ง และ ไม่มี พรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทย 141 เสียง + พรรคภูมิใจไทย 70 เสียง + พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง + พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง + พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง + พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง = 288  ชู “อุ๊งอิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร” หรือ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ

จะว่าไปแล้ว สูตรนี้มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะ “พรรคเพื่อไทย” ได้ให้สัญญาประชาคมแล้วว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พรรคพลังประชารัฐ” แต่สำหรับ จินตการและความคิดคนนั้น ไม่มีอะไรขวางกันได้  สูตรนี้เกิดขึ้นจริง การเมืองไทยก็มีแนวโน้มเข้าสู่ยุคการต่อสู้ครั้งใหม่ ระหว่าง “Neo-Conservatives” VS “Neo-liberalism”

โดย “พรรคเพื่อไทย” จากเดิมที่ถูกจัดให้เป็น "liberal" หรือ "เสรีนิยม" จะกลับกลายเป็นหัวขบวนของ "Neo-Conservatives" หรือ “อนุรักษ์นิยมใหม่” ในขณะที่ “พรรคก้าวไกล” จะเป็นหัวขบวนของ “Neo-liberalism” หรือ “เสรีนิยมใหม่” นั่นเอง  

 

เปิด 4 สูตรเลือกนายกฯ คนที่ 30 สูตรจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การโหวตของ ส.ว.
เปิดแนวทาง 4 ทางเลือกของ ส.ว. ในการโหวตนายกฯ คนที่ 30 

•  แนวทางที่ 1 - ส.ว. ​โหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส. 

ส.ว. ยกมือสนับสนุนให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมาก จาก ส.ส. ได้ 251 เสียง ซึ่ง หาก ส.ว. ทางเลือกนี้เปรียบเสมือน “การปิดสวิตช์ตัวเอง” และเป็นการเคารพเสียงของประชาชนที่ออกไปเลือกตั้ง  เลือกผู้แทนของตัวเองเข้าสภา 
.
ตอนนี้ ก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เคยเป็นฝ่ายค้านรวมกันได้ 310 เสียงเรียบร้อยแล้ว โดยทางเลือกของ ส.ว. แบบนี้ คือสิ่งที่ควรจะเป็นในการเลือกตั้งแบบปกติ 

•แนวทางที่ 2 - ส.ว. ลงคะแนนให้คนที่ต้องการ      

ส.ว. อาจจะต้องการเลือกคนที่เลือกพวกเขาเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว. ไม่ว่าจะเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้ว่าทั้ง 2 คนจะได้เสียง ส.ส. ไม่ถึงครึ่งหนึ่งก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม หาก ส.ว. ใช้การเลือกวิธีนี้ ก็จะทำให้ได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย เป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารประเทศได้ และผลลัพธ์ของทางเลือกนี้ อาจจะไม่ได้นายกฯ 

• แนวทางที่ 3 - ปิดสวิตช์ ส.ว. โดยไม่ใช้เสียง ส.ว. ผู้จัดตั้งรัฐบาลต้องรวบเสียงให้เกิน 376

สำหรับ แนวทางนี้ ผู้จัดตั้งรัฐบาล     จะต้องรวมเสียงโหวตนายกฯ ให้เกิน 376 เสียง ซึ่ง ณ เวลานี้ หมายถึง สูตร ก้าวไกล (152) + เพื่อไทย (141) + ประชาชาติ (9) + ไทยสร้างไทย (6) +  เสรีรวมไทย (1) + เป็นธรรม (1)  + ภูมิใจไทย (7) ผลลัพธ์คือ  ได้นายกฯใหม่แน่นอน แต่สิ่งที่ตามมา คือ อำนาจในการต่อรองฯ ในขั้วรัฐบาลจะมีมากเกินไป 

•  แนวทางที่ 4  ส.ว. งดออกเสียง ปิดสวิตช์ตัวเอง 

วิธีนี้อาจดูเหมือนเป็นทางออกเพื่อ “ปิดสวิตช์” ตัวเองของ ส.ว. ไม่ให้มีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว การงดออกเสียงแบบนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ระบุว่า ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียง “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกของ 2 สภารวมกัน หรือต้องได้รับคะแนนเสียง 376 เสียง 

ดังนั้น หาก ส.ว. ทั้ง 250 คน “งดออกเสียง” ก็อาจจะทำให้ไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด ได้เสียงมากพอถึง 376 เสียง ซึ่งจะส่งผลให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้ ส.ส. เสียงข้างมาก ไม่สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้

หาก ส.ว.​ พร้อมใจงดออกเสียง ก็จะนำไปสู่ 2 แนวทาง คือ ทั้งสองสภาต้องลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง  โดยผู้จัดตั้งรัฐบาลต้องรวบเสียงให้เกิน 376     

หรือหันไปใช้กลไก “นายกรัฐมนตรีนอกบัญชี” ที่ไม่ต้องเป็นแคนดิเดตจากบัญชีพรรคการเมือง แต่จะเสนอชื่อ “ใครก็ได้” โดยต้องได้รับเสียง 376 เสียงของรัฐสภาเพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่มา  nation

related