คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย การเลือกตั้ง66 มีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตชาติ แนะการเตรียมตัว เตรียมความคิดก่อนเดินหน้าเข้าคูหา เพราะครั้งนี้สำคัญกว่าครั้งใด ร่วมกำหนดอนาคตชาติไทย
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกครั้งมีความสำคัญ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง2566 นี้ ที่หลายคนรู้สึกว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความหวัง
“บริบทโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงฉับไวและซับซ้อน เราต้องการตัวแทนที่เข้ามาแก้ไขและจัดการปัญหาความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉีกบัตรขาดผิดไหม? #เลือกตั้ง66 หลายเขตเจอปัญหา กปน.ฉีกบัตรเลือกตั้งขาด
กกต.ถกด่วน! กรณี กปน. ให้ผู้ใช้สิทธิ์ใช้ "บัตรเลือกตั้ง" ที่ฉีกขาดลงคะแนน
แนวโน้มผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น
พร้อมกันนี้ อ.ปกรณ์ ให้ข้อมูลว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ 38 ล้านคนจากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 51 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 74.87 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด) สำหรับปีนี้ อ.ปกรณ์ คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง66 ส.ส. มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 52 ล้านคน (เพิ่มจากเดิม 1 ล้านคน) แล้ว ยังเนื่องมาจากเหตุปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ
ประการแรก คนไทยมีความเข้าใจและตื่นตัวมากขึ้นทางการเมือง และเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการได้มาซึ่งคนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศประการที่สอง รูปแบบการหาเสียงทุกวันนี้แตกต่างจากแต่ก่อน โดยเฉพาะการหาเสียงออนไลน์ ทำให้ผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายและมากขึ้น รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.เองก็สามารถเข้าถึงผู้มีสิทธิได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตด้วย
ประการสุดท้าย ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการบริหารจัดการให้กลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุมีความสะดวกมากยิ่งขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยมีการเปิดหน่วยเลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการเพิ่มขึ้นรวม 28 แห่ง ใน 23 จังหวัด ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนพิการและผู้สูงอายุซึ่งในบางครั้งเป็นกลุ่มเดียวกัน เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนอย่างน้อยที่สุดประมาณ 12 ล้านคน หรือร้อยละ 23 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งหากนับรวมครอบครัวหรือผู้ดูแลในสัดส่วนคนพิการ/ผู้สูงอายุ 1 คน กับครอบครัว 1 คน จะเท่ากับ 24 ล้านคน หรือร้อยละ 46
นับคะแนนรูปแบบใหม่ ดีอย่างไร?
การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ใบเลือกพรรค และ ใบเลือกผู้สมัคร ซึ่ง อ.ปกรณ์ มองว่าจะช่วยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้ง่ายกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2562) ที่มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว
“ครั้งก่อนเป็นการบังคับว่าเลือกพรรคเท่ากับเลือกคน หรือเลือกคนเท่ากับเลือกพรรค เนื่องจากพรรคกับคนใช้คะแนนร่วมกัน แต่ครั้งนี้เราสามารถเลือก “คน” แยกจาก “พรรค” ได้ ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถเลือกคนในพื้นที่ที่ทำงานในพื้นที่จริงๆ ได้ โดยที่ยังสามารถเลือกพรรคที่ชอบนโยบาย หรือให้ผู้ที่พรรคการเมืองแจ้งชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ได้”
กฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้เป็น 2 ทาง คือ
1.กาเลือกคนเพื่อบริหารจัดการชุมชน กาเลือกพรรคเพื่อบริหารประเทศ
2.กาเลือกทั้งคนและพรรคเดียวกันทั้ง 2 ใบ การกาแบบนี้คือการเลือกทั้งคนและพรรคมาบริหารประเทศ เพราะถ้าคนที่เราเลือกได้รับการเลือกตั้งก็ทำให้ตัวเลขจำนวน ส.ส.ของพรรคเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการสนับสนุนพรรคของตัวเองในการจัดตั้งรัฐบาลได้