ผู้อำนวยการ “เนชั่นโพล” ลงพื้นที่สำรวจประชากรย่านทุ่งครุ ระบุโพลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีความแม่นยำ ถูกต้องตามหลักวิชาการและสถิติ ระบุพื้นที่กทม.ค่าความคลาดเคลื่อนเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เผยใช้วิธีเดินสุ่มสำรวจแม่นยำกว่าการโทรศัพท์
ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้อำนวยการ “เนชั่นโพล” และผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พร้อมอาสาสมัคร ลงพื้นที่ย่านทุ่งครุ เพื่อใช้ในการทำผลสำรวจการเลือกตั้ง 2566 หรือ “เนชั่นโพล” โดยเป็นการสุ่มลงพื้นที่ตามบ้านประชาชน เพื่อนำไปประกอบผลโพลการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งการทำโพลครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยปกติโพลอื่นๆ จะใช้วิธีการโทรศัพท์สำรวจ แต่โพลที่ทางเนชั่นทีวีทำครั้งนี้ ทางผู้บริหารเนชั่นมีความตั้งใจว่าจะต้องมีมาตรฐานที่สุดตามหลักวิชาการ ตามหลักสถิติ
การทำงานของ “เนชั่นโพล”
ในการทำงานได้วางกลุ่มตัวอย่างไว้ 2 รอบ รวมกันมากกว่า 150,000 ตัวอย่าง โดยในรอบแรกเป็นการประเมินกระแสนิยมชั้นต้น จึงใช้วิธีสำรวจโพลเป็นภูมิภาค แบ่งเป็น 9 ภูมิภาค โดยในกรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่ถูกแยกจังหวัดออกมาต่างหาก เพราะมีเขตเลือกตั้งถึง 33 เขต โดยใน 8 ภูมิภาค รวม กรุงเทพมหานคร เป็น 9 ภูมิภาค ได้กำหนดความคลาดเคลื่อน ในส่วนของต่างจังหวัดไว้ที่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นพื้นที่ที่แข่งขันสูง ถูกกำหนดความคลาดเคลื่อนไว้ที่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งสามารถมีการแปลผลถูกต้องถึง 97 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจผลโพลรอบนี้
ข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ
วิธีการสำรวจความคิดเห็น
ผศ.ดร.เชษฐา กล่าวว่า ในส่วนของความแม่นยำในผลการสำรวจโพล เลือกตั้ง 2566 นั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน และ กรรมวิธี ซึ่งทางเนชั่นโพลที่ทำนี้ ได้เลือกวิธีการทำโพลเป็นแบบ เดินสำรวจ ซึ่งแตกต่างจากการโทรศัพท์ ที่ต้องใช้การสุ่มเบอร์โทร แต่บางคนไม่มีเบอร์โทรศัพท์เช่นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้าน หรือ โทรไม่ติด แต่การสุ่มจะแตกต่างกัน เพราะการเดินของกลุ่มอาสาสมัคร จะเดินตามจุดที่กำหนดไว้
โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือทั่วประเทศ จะใช้วิธีสุ่มตามหลักสถิติผ่านทางแผนที่ก่อน ถ้าสุ่มได้จุดหรือพื้นที่ใด อาสาสมัครก็จะต้องไปที่จุดนั้น เพื่อไปถามชาวบ้านที่อยู่ตามครัวเรือน และหากมีครอบครัวที่มีผู้อาศัย 5-6 คน และไม่มีผู้อยู่อาศัยในบ้าน ก็สามารถใช้สมาชิกใกล้เคียงในครัวเรือน หรือ คนข้างบ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของการสุ่มและสามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้นการสุ่มแบบคนเดินจึงมีความแม่นยำกว่าใช้โทรศัพท์อย่างแน่นอน
อุปสรรคในการทำโพล
ผศ.ดร.เชษฐา ผู้อำนวยการ “เนชั่นโพล” ระบุว่า สำหรับความยากลำบากในการทำผลสำรวจ มีหลากหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาการทำโพลสำรวจ หากมาเช้าเกินไปประชาชนที่จะต้องไปสำรวจก็อาจจะไม่พร้อม หรือหากไปช่วงค่ำเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่ออาสาสมัคร และในช่วงนี้ที่อากาศร้อนมาก จึงอาจส่งผลต่อสุขภาพของอาสาสมัครได้ จึงต้องเลือกช่วงเวลาสาย หรือช่วงเย็น ที่ประชาชนอยู่ประจำพื้นที่มากที่สุด
หรือในบางกรณีที่ทราบมาคือ ชาวบ้านเลี้ยงสุนัขไว้จำนวนมาก จนอาสาสมัครไม่สามารถลงไปสอบถามได้ ซึ่งกรณีนี้ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของบ้านเดินออกมาตอบแบบสำรวจด้วยตัวเอง หรือบางพื้นที่ที่เปลี่ยน ก็ต้องเลือกช่วงเวลาลงสำรวจ หรือใช้อาสาสมัครมากกว่าปกติเพื่อความปลอดภัย
“การลงพื้นที่สำรวจโพลโดยใช้อาสาสมัครจึงมีปัญหาที่หน้างานให้ได้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา และเพื่อความเรียบร้อยในการทำงานจึงได้ให้อาสาสมัครแขวนบัตรไว้ตลอดเวลาที่ลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งอาสาสมัครกว่า 1,000 คนที่ลงพื้นที่นั้นจะต้องมีความปลอดภัยมากที่สุด”
ผศ.ดร.เชษฐา กล่าวอีกว่า ทีมงานสำรวจโพลคำนึงถึงความปลอดภัยของอาสาสมัครเป็นสำคัญ จึงมีการทำเรื่องสวัสดิการให้กับอาสาสมัครทุกคน รวมถึงมีการอบรมวิธีการเข้าพูดคุยกับประชาชนเพื่อสอบถามไปประกอบผลโพล โดยจะมีการใช้วาจาที่สุภาพ แนะนำตัวให้ชัดเจน และเป็นกันเองกับพื้นที่ที่เข้าไปทำผลสำรวจ
“หากมีประชาชนไม่พร้อมตอบแบบสอบถาม เลือกตั้ง 2566 ก็จะไม่มีการรบเร้าแต่อย่างใด แต่ก็จะหาคนถัดไปในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งยังถูกหลักการสุ่มอยู่ และทางสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ซี่งเป็นทีมงานหลักในการทำผลสำรวจครั้งนี้ และมีประสบการณ์การทำโพลสำรวจมากว่า 10 ปี มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ และสามารถทำให้ผลโพลมีความถูกต้องเที่ยงตรงที่สุด”
ความแม่นยำในผลโพล
ผศ.ดร.เชษฐา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สำหรับ เนชั่นโพล เมื่อเทียบกับผลสำรวจของโพลสถาบันอื่นแล้ว มั่นใจว่ามีความแม่นยำ จากการร่วมมือกันระหว่างสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ร่วมกับเนชั่นทีวี ทำผลสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเมื่อช่วงปีที่แล้ว ในการจัดอันดับความนิยมผู้ลงสมัครในครั้งนั้น สามารถทำออกมาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก็ได้ใช้อาสาสมัครลงพื้นที่เช่นกัน
ดังนั้นในครั้งนี้ด้วยกรรมวิธีในการวางแผนโพล อาสาสมัครที่ได้ร่วมงานกันมา รวมถึงความตื่นตัวของประชาชนต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ ที่อยากเลือกตั้งและอยากตอบแบบสำรวจ จึงทำให้ผลสำรวจมีความแม่นยำสูง แต่เมื่อเป็นการทำโพลสำรวจจึงย่อมมีความผิดพลาดได้ เช่นในช่วงท้ายของการเลือกตั้ง มีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น มีธนกิจการเมืองเกิดขึ้นสูงมาก ซึ่งหากปัจจัยนี้มีเข้ามาเยอะก็อาจมีผลกับแรงจูงใจของคนบ้าง แต่ค่าเฉลี่ยของความแม่นยำว่าพรรคไหนได้อย่างไร จะเห็นทิศทางที่ชัดเจนว่าการเอาอาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจ จะมีความแม่นยำกว่า ในเรื่องของอันดับ จึงมั่นใจว่า เนชั่นโพล มีความแม่นยำในจุดนี้
ทั้งนี้สำหรับการลงพื้นที่บริเวณหมู่บ้านย่านทุ่งครุ เพื่อทำผลโพลเลือกตั้งในครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี
ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพรรคและตัวบุคคลที่ชื่นชอบอยู่แล้ว แต่จะเน้นที่นโยบายพรรคเป็นหลัก และอยากให้พรรคการเมืองมีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุม ทั้งเรื่องสวัสดิการ ค่าครองชีพ รวมถึงต้องการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนดี พร้อมยืนยันจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามจากการเฝ้าสังเกตของทีมข่าวพบว่า ยังมีปัญหาในบางจุด อาทิ ชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องการแบ่งเขต , ในพื้นที่มีประชากรแฝง ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำแบบสำรวจได้ , ประชาชนยังไม่รู้นโยบายของพรรคการเมือง เป็นต้น โดยการทำผลสำรวจเนชั่นโพลจะทำ 2 รอบ โดยรอบแรกจะรวบรวมผลโพลก่อนวันที่ 11 เมษายนนี้ ส่วนในช่วงที่สองจะต้องแล้วเสร็จภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน