svasdssvasds

เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย

เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย

เปิดผลงานผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอนนี้ ได้ฤกษ์ดี ครบ 1 ปี จัดแถลงผลงาน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน พลิกชีวิตคนกรุงฯ” ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย ชี้แจงผลงานความร่วมมือจากภาคีแบบไร้รอยต่อ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ” ชี้แจงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย รวมถึงทิศทางการการพัฒนากรุงเทพมหานครในระยะต่อไป โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โฆษกสภากรุงเทพมหานคร และรองโฆษกสภากรุงเททพมหานคร ร่วมการแถลง วันที่ 13 มิ.ย. 2566

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“365 วันที่ผ่านมา เป็น 365 วันที่สนุกและยังคงมีพลังเหลือเฟือในการทำงานต่อ ทั้งหมดที่เห็นไม่ใช่ผลงานของชัชชาติคนเดียว แต่เป็นผลงานของทีมทุกคนที่ร่วมมือกัน เป็นผลงานของผู้บริหาร พี่น้องข้าราชการ บุคลากรกรุงเทพมหานคร ทีมสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่เป็นกำลังสำคัญในการออกกฎหมาย และเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อจริง ๆ  ในช่วงแรกที่เข้ามาในเดือนมิถุนายน 2565 งบประมาณปี 66 ของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่ได้เริ่มการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายอย่างจริงจังคืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 66 กว่า 9,000 ล้านบาท เป็นช่วงที่เริ่มเห็นการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายของเรามากขึ้น และประชาชนสามารถเข้าไปดูสิ่งที่เราทำได้ทางเว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ หรือ ผู้ว่ากรุงเทพฯ กล่าวว่า  สำหรับช่วงแรกมี Key Driver 5 เรื่องหลักที่ได้ทำ ซึ่งเป็น  ผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี ที่ผ่านมา 

1.การให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย โดยไม่ได้ละเลยเส้นเลือดใหญ่ที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นว่ากรุงเทพฯ อ่อนแอที่เส้นเลือดฝอย หากทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและประสานกับเส้นเลือดใหญ่ให้เข้มแข็งได้ จะทำให้ทั้ง  2 ส่วนทำงานไปด้วยกันได้ 

2.การเปลี่ยน Mind set ข้าราชการ โดยใช้ People Centric คือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง หันหน้าหาประชาชน ตอบสนองประชาชนตลอดเวลา ทำให้เป็นหัวใจหลักในการทำงานและผู้บริหารต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ลูกน้อง

3.Technology Driver คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยน เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เช่น Open Data การเปิดเผยข้อมูล การให้ใบอนุญาตออนไลน์ การให้บริการ Telemedicine เป็นต้น ซึ่งเห็นผลชัดเจน อนาคตต่อไปจะไม่หวนกลับไปในรูปแบบเดิมแล้ว เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนและจะถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ประชาชน
 
4.เรื่องของความโปร่งใส เป็นโจทย์ที่ประชาชนฝากให้ตั้งแต่เริ่มแรก การเปลี่ยน Mind set ผู้บริหารในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ไม่เก็บส่วย เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยความโปร่งใส

5.สร้างภาคีเครือข่าย เพราะปีแรกเราไม่มีงบประมาณอะไรเลย มีเพียงความร่วมมือจากชุมชน หอการค้า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน กิจกรรมที่เกิดขึ้นได้จึงเกิดจากภาคีเครือข่ายทำให้เมืองขับเคลื่อน และคาดว่าภาคีเครือข่ายจะร่วมขับเคลื่อนกทม.ต่อไปในปีที่ 2-4 ด้วย

เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย
นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย มีอะไรบ้าง ? 

ในรายละเอียดของการดำเนินนโยบายในแต่ละด้านที่โดดเด่นที่ชัชชาติกล่าวไว้ เช่น


1. ‘ปลอดภัยดี’ 
กทม. แก้ปัญหาไฟฟ้าดับแล้ว 28,000 ดวง เปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED แล้ว 11,400 ดวง โดยคาดว่าภายใน 2 เดือนนี้จะเปลี่ยนได้ครบ 25,000 ดวง ติดตั้งกล้องป้องกันอาชญากรรมเพิ่ม 160 ตัว และปรับปรุงระบบการขอภาพจากกล้องวงจรปิดให้สามารถขอได้ภายใน 24 ชั่วโมง

 2. ‘โปร่งใสดี’ 
การรายงานปัญหาโดยประชาชนผ่าน Traffy Fondue จากทั้งหมด 3 แสนกว่าเรื่อง กทม. แก้ไปแล้วกว่า 2.1 แสนเรื่อง พร้อมส่งต่ออีกกว่า 60,000 เรื่องให้หน่วยงานอื่นช่วยเข้ามาดูแล เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่ยังรวมถึงเวลา หากเราแก้ปัญหาให้ประชาชนล่าช้า มันก็เหมือนเราทุจริตเวลาพวกเขาด้วย 

 3. ‘เศรษฐกิจดี’ 
จัดระบบสอบรับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการ กทม. โดยตรง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของหน่วยงานรัฐ สามารถสร้างการจ้างงานคนพิการได้แล้ว 9 อัตรา ยังไม่รวมลูกจ้างซึ่งเป็นผู้พิการอีกกว่า 300 ราย ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ออกสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีอยู่ราว 20,000 รายทั่ว กทม. รวมถึงปรับสัดส่วนคณะกรรมการหาบเร่ฯ ให้มีส่วนร่วมจากผู้ค้า ประชาชน และนักวิชาการมากขึ้น

 4. ‘เดินทางดี’ 
ปรับปรุงทางเท้า 221.47 กิโลเมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กด้านล่างให้แข็งแรงขึ้น สร้างมาตรฐานทางเท้าใหม่ ลอกท่อ 7,115.4 กิโลเมตร ลอกคลองและเปิดทางน้ำไหลรวม 2,948 กิโลเมตร ซึ่งประชาชนหลายคนสะท้อนมาว่าฝนตกแล้วน้ำลงเร็ว

เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย  

 5. ‘สิ่งแวดล้อมดี’ 
ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแยกขยะกันแล้วกว่า 6,400 ราย สามารถทำให้ขยะลดลงได้ถึง 300-700 ตันต่อวัน ตรวจค่าฝุ่น 9,291 สถานประกอบการ ตรวจควันดำยานพาหนะแล้วกว่า 1.3 แสนคัน 

 6. ‘สุขภาพดี’ 
เพิ่มเวลาการให้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข บริการหมอถึงชุมชนผ่านหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เปิดให้บริการหมอทางไกล (Telemedicine) ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. แล้ว 11 แห่ง 

 
7. ‘สังคมดี’ 
เปิดระบบจองการขออนุญาตใช้พื้นที่สาธารณะทำกิจกรรมต่างๆ 21 แห่ง เปิดจุดบริการคนไร้บ้าน ทำให้จำนวนคนไร้บ้านลดลงได้ถึง 490 คน เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2565 

 8. ‘เรียนดี’ 
ปรับค่าอาหารกลางวันเด็กจาก 20 เป็น 32 บาท จ้างงานพนักงานธุรการกว่า 300 คน เพื่อช่วยลดภาระงานครูในโรงเรียน แจกผ้าอนามัยฟรี 3.8 แสนชิ้น ให้เด็กกว่า 23,000 คน ติดตั้งคอมพิวเตอร์ 21,000 เครื่องใน 437 โรงเรียน

9. ‘บริหารจัดการดี’ 
จัดสรรงบฯ ปี 2566 กว่า 5,024 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเส้นเลือดฝอย ยกเลิกข้อบัญญัติที่ล้าสมัยเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร 11 ฉบับ ทำประกันอุบัติเหตุให้พนักงานกวาดถนนกว่า 9,000 คน 

ดำเนินการประเมินที่ดินใน กทม. แล้ว 99.42% เพื่อจัดเก็บภาษี ทดสอบทำงบฯ ฐานศูนย์ในปี 2567 เริ่มต้นที่ 1,000 ล้านบาท

 ในส่วนที่มีประชาชนตั้งคำถามว่า เหตุใด กทม. ไม่มีโครงการขนาดใหญ่เลย ชัชชาติชี้แจงว่า โครงการขนาดใหญ่ไม่ได้ทำได้ภายใน 1 ปี หลายโครงการทำต่อมาตั้งแต่สมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร คลองบางบัวสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง   โดยช่วงหนึ่งของการนำเสนอผลงานตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ชัชชาติกล่าวถึงสัดส่วนรายรับของ กทม. ในปี 2566 แบ่งเป็นรายได้ที่รัฐเก็บให้ 65,000 ล้านบาท รายได้ที่ กทม. จัดเก็บจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีก 14,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายจ่าย กทม. มีรายจ่ายที่ประจำพื้นฐานประมาณ 46,847 ล้านบาท รายจ่ายผูกพัน 14,010 ล้านบาท โครงการงบลงทุนนโยบายผู้บริหาร 18,555 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% 

 ทั้งนี้ ยังได้ชี้แจงภาระหนี้สิ้นของ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น หนี้ค่าติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) 19,000 ล้านบาท หนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) 42,400 ล้านบาท และหนี้โครงสร้างพื้นฐาน 50,000 ล้านบาท ทั้งที่ กทม. มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพันเพียง 49,837 ล้านบาท ดังนั้นแนวทางการดำเนินโครงการในอนาคตต้องระวังและทำอย่างรอบคอบ 

เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย

 ชัชชาติ ผู้ว่ากทม. กล่าวยอมรับว่า สิ่งที่ กทม. ยังทำได้ไม่ดีคือ ‘เศรษฐกิจเมือง’ ต้องขับเคลื่อนให้มากขึ้น เร่งรัดพัฒนาตลาด 11 แห่ง เชื่อว่าที่ผ่านมาเรามาถูกทาง แต่หากมีข้อปรับปรุงก็พร้อมน้อมรับเพื่อทำให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานคือการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน หากไม่มีความโปร่งใส ประชาชนไม่ไว้ใจ สุดท้ายก็ไม่มีแนวร่วม 

“ผมว่าข้าราชการลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นคนดี ควรที่จะต้องส่งเสริมโดยเริ่มจากฝ่ายบริหาร ที่ผ่านมาคนแจ้งข้อมูลเรื่องทุจริตมาเยอะ หากเอาจริงเอาจังอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีเงินเหลือทำเรื่องอื่น ผมบอกเสมอว่า Traffy Fondue ที่ประชาชนแจ้งมา 3 แสนกว่าเรื่อง ไม่ได้สะท้อนว่าเราอ่อนแอ แต่แสดงว่าประชาชนไว้ใจเรา มีค่ามากกว่างบประมาณ” ชัชชาติ เปิดเผย
 

related