กระทรวงสาธารณสุข ห่วงคนไทยภูมิต้านทานไข้เลือดออกตก พบ 4 เดือน ป่วยแล้ว 1.8 หมื่นคน มีทั้งผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เผยวัคซีนที่มียังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะยังไม่มียาต้านไวรัสรักษาไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกีโดยตรง
วันนี้ (9 มิถุนายน 2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเปิดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก" ว่า ปีนี้ไข้เลือดออกน่าเป็นห่วงเนื่องจากเราไม่ติดหลาย ๆ ปี ภูมิต้านทานที่เคยมีกับไข้เลือดออกจะลดลง
นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยและอาเซียน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยถึง 18,173 ราย มากกว่าปีที่แล้วถึง 4.2 เท่า เป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ ภาคใต้ และภาคกลาง โดยนักเรียนอายุ 5-14 ปี ป่วยสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการ 3 กลยุทธ์ คือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
WHO เตือนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้โรคที่ยุงเป็นพาหะ แพร่ระบาดหนัก
"จากจำนวนผู้ป่วยที่มีถือว่าวิกฤตแล้วหรือไม่นั้น ช่วงปีที่เรามีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากๆ คือ ประมาณ 1.5 แสนคน ปีนี้ก็ยังไม่ถือว่าวิกฤตมากนัก แต่ปีนี้คนไทยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกน้อย มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้
เดือนนี้จึงต้องไม่ประมาทและร่วมมือกันเพราะไข้เลือดออกระบาดตามฤดูกาล คือ ช่วงฤดูฝน เดือน มิ.ย.ก็เข้าฤดูฝนแล้วจะเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อและเสีชีวิตสูงขึ้นและจะมีการระบาดสูงอยู่ 3-4 เดือนจากนี้ ก็ต้องช่วยกันรณรงค์ควบคุมป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป" นพ.โอภาสกล่าว
ที่น่าห่วง คือ ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสรักษาไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกีโดยตรง การป้องกันจึงสำคัญ ทำอย่างไรให้ไม่ถูกยุงกัดซึ่งมีนวัตกรรมหลายอย่าง เช่น ยาทา ยาป้องกันไล่ยุง เราต้องการนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกเยอะ อย่างเนคเทคนำดิจิทัลมาเชื่อมโยงข้อมูลสำรวจลูกน้ำยุงลาย ที่มี อสม.ช่วยสำรวจ จะบอกได้ว่า จุดไหนที่มีไข้เลือดออก จะได้ช่วยมองเป้าและชี้จุดในการรักษาและควบคุมต่อไป
อีกส่วนคือ เดิมเข้าใจว่าไข้เลือดออกเป็นกับเด็กเล็ก เด็กโต แต่ระยะหลังพบว่าปัญหาการป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดคือผู้ใหญ่ ซึ่งอาการไม่เหมือนรูปแบบที่เคยรู้จักมา บางครั้งมีอาการไม่กี่วันก็ทำให้อาการหนักรุนแรงหรืออาการแปลกๆ ได้ จึงต้องย้ำเตือนว่า ระยะแรกของไข้เลือดออก การวินิจฉัยไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีอาการคล้ายกับโรคอื่น
หากไม่ติดตามอาการหรือสังเกตจะทำให้การรักษาล่าช้า เกิดความรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด มาตรการวินิจฉัยให้เร็วที่สุดและสังเกตตัวเองจึงมีความสำคัญ ขณะที่แต่ละบ้านควรสำรวจลูกน้ำยุงลายและช่วยกันกำจัด รวมไปถึงชุมชนเพราะยุงลายบ้านหนึ่งก็ข้ามไปอีกบ้านทำให้ป่วยหรือระบาดในชุมชนได้
สำหรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเคยออกมา 10 ปีที่แล้วในตลาดและใช้ในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่า การทดลองอาจจะได้ผลดีแต่เอามาใช้ในภาคสนามกลับไม่ได้ผลดี การใช้วัคซีนมีทั้งประโยชน์และสิ่งที่พึงระวัง
ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่มีวัคซีนรุ่นใหม่ของบริษัทประเทศญี่ปุ่น เราคงติดตามข้อมูลและเริ่มปฏิบัติการนำไปใช้อย่างเหมาะสมต่อไป กรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ซึ่งคงต้องผ่านกระบวนการทดสอบและนำไปใช้จริงและประเมินอีก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกสูงที่สุด จึงได้ออกนโยบายดำเนินการเชิงรุก เน้นการป้องกันและเฝ้าระวังก่อนเกิดโรค โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนสร้างการรับรู้ถึงอันตรายของไข้เลือดออกแก่ประชาชน เพื่อทำให้ กทม.ปลอดโรค ปลอดภัยห่างไกลจากไข้เลือดออก