เปิดไทม์ไลน์ เลือกตั้ง 2566 จนไปสู่การมีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ส่วนรัฐบาลชุดเก่ายังคงต้องรักษาการจนถึงต้น ส.ค. 2566
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในช่วงท้ายของการแถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับไทม์ไลน์คร่าวๆ ของการยุบสภา การเลือกตั้ง 2566 จนกระทั่งการมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. ว่า
สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 25) จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 และจะต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ แต่กรณีที่มีการยุบสภาเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุบสภาหรือครบวาระจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 แน่นอน โดยคาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม 2566
ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 2566 ไจนไปสู่การมีนายกรัฐมนตรี และครม. ชุดใหม่
• 14 พ.ค. วันเลือกตั้ง กกต.มีเวลา 60 วันในการรับรองผล
• คาดว่า กกต.จะรับรองผลในวันที่ 11 กรกฎาคม
• กกต. จะมีเวลา 15 วัน เรียกประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภา คือช่วงปลายเดือน ก.ค.
• หลังจากนั้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภา
• ปลายเดือน ก.ค. ประธานสภานัดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
• หลังจากนั้น รอโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี
• นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
• เดือนสิงหาคม 2566 ได้รัฐบาลใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เลือกตั้งล่วงหน้า นับคะแนนยังไง ? เลือกนอกเขตทำไมต้องใส่ซองก่อนหย่อนหีบ
• เลือกตั้ง 66 กาบัตรเลือกตั้งแบบไหน ไม่นับเป็นบัตรเสีย ก่อนเสียสิทธิ์ฟรี
• เลขาฯกกต. แจงยิบ 4 เผยเหตุผลที่ต้อง พิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรอง 4.9 ล้านบัตร
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงต้องรักษาการต่อไปประมาณ 4 เดือนครึ่งหลังจากยุบสภาหรือครบวาระ ไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566
ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดตามวาระวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งวุฒิสภายังมีอยู่แต่จะประชุมไม่ได้ เว้นแต่เป็นการพิจารณาตั้งองค์กรอิสระ ส่วนเรื่องของกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ค้างอยู่ใน 2 สภามีอยู่ประมาณ 29 ฉบับ จะตกไปทันที และหลังเลือกตั้งหากรัฐบาลจะนำกลับเข้าพิจารณาต่อ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องยกขึ้นมาพิจารณาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่
สำหรับกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่มีการกราบบังคมทูลไปแล้วตอนนี้อยู่ที่ 11 ฉบับ ยังดำเนินการต่อไปตามปกติ แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดได้ ส่วนพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับกระทรวงต่างๆ ยังสามารถดำเนินการออกได้ตามปกติ
ทางด้านผลที่เกี่ยวข้องกับ ครม. เมื่อพ้นตำแหน่งแต่ยังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อ (รักษาการ) จนกว่า ครม. ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตำแหน่งต่างๆ เอกสารราชการ หรือการรายงานข่าวไม่จำเป็นต้องวงเล็บว่ารักษาการ สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะพ้นตำแหน่งในวันเดียวกับที่ ครม. พ้นตำแหน่ง คือเมื่อมีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม. ชุดใหม่ ในระหว่างรักษาการหากมีรัฐมนตรีลาออก จะไม่กระทบ ครม. ที่เหลือ ยังสามารถประชุมได้ และนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจในการปรับ ครม. ได้หากมีความจำเป็น
ขณะที่เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครม. จะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน นับจากวันที่ ครม. ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้ว
การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. จะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
1. ต้องไม่อนุมัติงาน หรืออนุมัติโครงการที่สร้างความผูกพันกับ ครม. ใหม่ ยกเว้นจะเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว
2. ต้องไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงาน หรือมีการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
3. ต้องไม่อนุมัติการใช้งบกลาง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
4. ต้องไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต.