ทำความรู้จักแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” เช็กความเสี่ยงด้านสุขภาพ คุณสมบัติเด่นแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง พื้นที่แพร่ระบาดของไข้เลือดออก สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ดัชนีความร้อนที่นำไปสู่โรคลมแดด (ฮีทสโตรก)
อากาศร้อนจัดในหน้าร้อนมักส่งผลกับสุขภาพของเราโดยไม่รู้ตัว ซึ่ง ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด มักพบบ่อยในหน้าร้อนหรือช่วงที่อากาศร้อนจัด เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ แนะก่อนออกจากบ้าน ใช้แอปพลิเคชัน “รู้ทัน” เช็กความเสี่ยง ดัชนีความร้อนได้ โดยแอปฯ รู้ทัน เริ่มต้นขึ้นจากความร่วมมือของ เนคเทค สวทช. และ กรมควบคุมโรค วิจัยและพัฒนา “ชุดซอฟต์แวร์ทันระบาด” เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออก ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งมีการนำไปใช้งานกว่า 5 ปี และในปี 2563 ได้ร่วมกันต่อยอด ทันระบาด ไปสู่ภาคประชาชน
ในปัจจุบันเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการจัดการขยะหรือภาชนะและสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำไปสู่การเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปัญหามลพิษและฝุ่นที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนและอันตรายจากรังสี UV จากดวงอาทิตย์ ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
“แอปพลิเคชันรู้ทัน” จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือรับการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือระดับประเทศ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันและได้รับความเสี่ยงน้อยที่สุด
โดย “รู้ทัน” จะแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง ณ ตำแหน่งปัจจุบันและพื้นที่ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และดัชนีความร้อนที่นำไปสู่โรคลมแดด และพร้อมขยายผลสู่ความเสี่ยงสุขภาพอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ฮีทสโตรก วิธีป้องกัน โรคลมแดด และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
• ฮีทสโตรก เตือน อุณหฆาตคือถึงตาย อุณหภูมิร่างกายสูงถึง 41องศา ห้ามให้ดื่มน้ำ
• อาการล่าสุด "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์" วูบคาดฮีทสโตรก รอแพทย์หัวใจบินจากกรุงเทพ
คุณสมบัติของแอปพลิเคชัน “รู้ทัน”
• สื่อสารความเสี่ยงสุขภาพ ณ ตำแหน่งพิกัดปัจจุบันและเลือกพื้นที่ที่สนใจได้ สามารถติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพ 3 ด้าน ได้แก่
1. แสดงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยอ้างอิงข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จากกรมควบคุมโรค ใน 4 สัปดาห์ล่าสุดซึ่งเป็นไปตามวงจรชีวิตของยุงลาย แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาเทียบกับข้อมูลจำนวนผู้ป่วยฯ 5 ปีย้อนหลังเป็นค่าเฉลี่ย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
• ความเสี่ยงสูง : ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วย ณ ปัจจุบันมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
• ความเสี่ยงปานกลาง: ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วย ณ ปัจจุบันเท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
• ความเสี่ยงต่ำ: ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วย ณ ปัจจุบันน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
2. สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยอ้างอิงเกณฑ์จากกรมควบคุมมลพิษ
3. ดัชนีความร้อนที่นำไปสู่การเป็นโรคลมแดด
• แสดงคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
• แสดงอุณหภูมิ สภาพอากาศ และการพยากรณ์อากาศ
• แสดงข้อมูลสรุปยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของประเทศไทย ย้อนหลัง 7 วัน ทั้งรักษาหายแล้ว กำลังรักษาในโรงพยาบาล และเสียชีวิต
ที่มา : NECTEC