svasdssvasds

"วันสตรีสากล" 8 มี.ค. 2566 จุดยืนนักการเมืองหญิง ขับเคลื่อนนโยบายของผู้หญิง

"วันสตรีสากล" 8 มี.ค. 2566 จุดยืนนักการเมืองหญิง ขับเคลื่อนนโยบายของผู้หญิง

จุดยืนของนักการเมืองหญิง ในการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2566 ความเสมอภาคและเป็นความเท่าเทียมกันในสังคม

 วันสตรีสากล ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคม

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย และ พร้อมด้วย ส.ส. ,ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. หญิงพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวนโยบายเพื่อผู้หญิง เนื่องในวันสตรีสากล ภายใต้ธีม “DigitALL: Innovation and technology for gender equality” นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ  โดยผู้เข้าร่วมมีการสวมเสื้อ “embrace equity โอบกอดความเสมอภาค” เพื่อแสดงจุดยืนความเสมอภาคทางเพศของพรรคเพื่อไทย

 นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ และจะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีการเปิดนโยบาย 2 อย่างที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างทั่วถึง

 นโยบายแรกคือการยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ด้วยเทคโนโลยี ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทักษะ ซึ่งเดิมทีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือหนึ่งในความสำเร็จของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีกรอบความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน - การพัฒนาทักษะอาชีพ - การดูแล ปกป้องสิทธิสตรี ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เพื่อดูแลประชากรหญิงครอบคลุมทุกมิติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• วันสตรีสากล รู้จักผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลในโลกแฟชั่นและความงาม

• 8 มีนาคม ของทุกปี "วันสตรีสากล"

• นิตยสาร TIME เผย 12 รายชื่อ ผู้หญิงแห่งปี 2022 ในโอกาส วันสตรีสากล 8 มีนาประจำปี

ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการหญิงยังเป็นปัญหา จากข้อมูลธนาคารโลกระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ประกอบการหญิงมีจำนวนเพียง 30% และมีถึง 70% ที่ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคค้าปลีกซึ่งเติบโตน้อย กำไรน้อย และยังขาดเทคโนโลยี 

 พรรคเพื่อไทย จึงมีนโยบายต่อยอดความสำเร็จของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพกองทุน โดยเทคโนโลยีจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการสร้างคน สร้างเครือข่าย เชื่อมตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงนวัตกรรม และเพิ่มการปกป้องสิทธิ์ต่างๆ เพื่อผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างภาคภูมิ

นโยบายที่ 2 คือการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงไทยเกิดจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะในเพศหญิงและมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากกามดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 ความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากการเคยมีนายกรัฐมนตรีหญิง มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และในภาคการเมืองผู้หญิงก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ พรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนผู้สมัคร ส.ส.หญิง 20% มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มี 15% โดยไม่ได้มีการจำกัดเพศในการคัดเลือกผู้สมัครแต่มาจากความเหมาะสมเป็นหลัก

  น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์

 ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ หรือ "มาดามเดียร์" ร่วมงานแถลงข่าว "จุดยืนนักการเมืองหญิง ปชป.ในการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง เนื่องในวันสตรีสากล" 

เราทุกคนต่างเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย จะถูกความคาดหวังในสังคมกำหนดบทบาทตามเพศกำเนิด และกลายมาเป็นอุปสรรคในการทำงานหลายอย่าง ซึ่งเธอเองก็ต้องเจอกับอคติทางเพศเหล่านี้ทั้งในการทำงานด้านกีฬา และการเมือง

โดยยืนยันว่าการแบ่งเพศเป็นแค่ชายหญิง เหมือนในกฎหมายไทยก็ยังเหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีทั้งคนที่มีสองเพศ (Intersex) และการนิยามความหลากหลายทางเพศ (LGBTQINA+) จึงเห็นเหตุให้เธอโหวตสวนมติของรัฐบาล เพื่อรับหลักการของทั้งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และคู่ชีวิต เพราะกฎหมายต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมและยุคสมัย เพื่อเอื้อให้คนที่อยู่ภายใต้กฎหมายได้รับสิทธิและเสรีภาพสูงสุด

เราควรเลิกเอาค่านิยมที่สังคมสร้างขึ้น ความคิดแบบปิตาธิปไตย ความคิดแบบทวิลักษณ์คือระบบสองเพศ มากดทับ ปิดกั้นศักยภาพของเราทุกคน ขอให้เราปลดปล่อยพันธนาการภายใต้กรอบการมอง “เพศ”

 รวมทั้งยังเสนอให้ลดอคติที่เกิดจากความแตกต่างด้านอื่นด้วย เช่น ความหลากหลายทางเพศ, ความหลากหลายชาติพันธุ์และแรงงานต่างชาติ, ความแตกต่างทางชนชั้นในสังคม, ความแตกต่างเรื่องของวัยวุฒิและคุณวุฒิ, ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ หรือแม้กระทั่ง ความหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมือง

 โดยรัฐต้องทำนโยบายหรือกฎหมายสร้างสังคมที่โอบรับทุกคน ทุกกลุ่ม ลดอคติและการเลือกปฏิบัติได้อย่างชัดเจน เปิดกว้างสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกความแตกต่าง รวมถึงกฎหมายหรือนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมเหล่านี้

  คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

 ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย , นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย , นางสาวณิชชา บุญลือ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ร่วมกันแถลงข่าว เนื่องในวันสตรีสากล 

 โดยคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า สตรี ยังถูกมองอย่างกดขี่ ดูถูก ขาดโอกาส ขาดความเคารพ หรือการมองจากสังคมอย่างเท่าเทียม แม้จะเป็นคนที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนที่มีบทบาท ในทางสังคม หรือการบริหารงานธุรกิจก็ตาม แต่ด้วยความเป็นเพศแม่ จึงมีความห่วงใยในอนาคตของลูกหลานขอประเทศ 

 ดังนั้น อยากชวนหญิงไทย และ LGBTQ ทุกคนมารวมกำลังเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยมือของเรา และมาสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุด เพื่อส่งมอบให้คนรุ่นต่อไป พรรคไทยสร้างไทย จึงสร้างนโยบาย เพื่อส่งเสริมและผลักดันบทบาทสตรีให้มีความแข็งแกร่ง และได้รับการยอมรับจากคนในสังคมไทย อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ผ่านนโยบายกองทุนพลังหญิง ให้เข้าถึงองค์ความรู้แหล่งทุนและตลาดเพื่อให้ผู้หญิงไทยที่อยากทำงานได้มีโอกาสทำงาน ซึ่งในส่วนนี้จะประกอบไปด้วย “ ศูนย์พัฒนา ศักยภาพผู้หญิง Woman Care ใน 878 อำเภอทั่วประเทศไทย ซึ่งต่อยอดมาจากศูนย์พึ่งได้ที่เคยทำไว้ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนมีงานทำมีอาชีพที่มั่นคง  ผู้หญิงทุกคนต้องมีงานทำและไม่มีหนี้ , ตั้งเครือข่ายออนไลน์เพื่อจับคู่งานที่เหมาะสมให้กับผู้หญิงที่ว่างงาน ส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและเพียงพอ , มีโครงการ Upskill และ Reskill ให้แก่ผู้หญิง

และยังมีการจัดตั้งกองทุนสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีวัตถุประสงค์ให้แม่เลี้ยงเดี่ยว มีอาชีพ  มีรายได้เลี้ยงตนเอง  และลูกได้อย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับนโยบายที่เกี่ยวกับศูนย์เด็กเล็ก ที่มีคุณภาพอยู่ทุกพื้นที่และเปิด-ปิดตามสภาพพื้นที่จริง ซึ่งต้องส่งเสริมครูพี่เลี้ยงให้มีรายได้เพียงพอ และมีค่าอาหารกลางวันที่เด็กจะได้รับโภชนาการที่ครบถ้วน 

ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีตัวแทนผู้หญิงเป็นนักการเมือง พรรคไทยสร้างไทย จึงอยากเพิ่มจำนวน ส.ส.ผู้หญิงในสภาด้วยโครงการ More WIP (More Women in Politics) เพื่อเสริมพลังและเปิดให้มีการแสดงความเห็นทุกด้าน

 ด้าน น.ส.นางสาวธิดารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของพรรคไทยสร้างไทยจะตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิง” ของพรรคไทยสร้างไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ผู้หญิงแจ้งขอความช่วยเหลือจากการความรุนแรง ตกงาน และเสนอนโยบายที่สนใจ คุ้มครองผู้หญิงจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งคุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ ทั้งการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน คุ้มครองจากการก่อหนี้นอกระบบและถูกเอาเปรียบ คุ้มครองแม่รวมทั้งย่าหรือยายหรือคนอื่นๆ ที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลานโดยลำพัง และยึดหลักปกป้องสิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women: CEDAW) ทั้งความเท่าเทียมทางการศึกษา อาชีพ รายได้ การทำงาน การเจริญพันธุ์ ตลอดจนห้ามการเลือกปฏิบัติ 

 ทันทีที่รัฐบาลสุดารัตน์ได้เข้าไปทำงาน นโยบายที่ได้นำเสนอไป จะเป็นเรื่องลำดับแรกๆ ที่จะทำให้สำเร็จภายใน 6 เดือน ต่อไปนี้ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายความทางเพศ เด็ก จะต้องถูกปลดปล่อยจากการถูกกดขี่ข่มเหง และจะไม่มีอีกต่อไป

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ

 ทางฝั่งของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า  เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม พรรคพลังประชารัฐ ได้ให้ความสำคัญการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ ทางสังคมให้กับกลุ่มสตรี และเยาวชน ได้รับสิทธิเท่าเทียมในทุกมิติ เท่ากับเพศชาย ที่นำมาสู่การระดมความคิดเห็นของกลุ่มสตรีพรรคพลังประชารัฐ ในกลุ่ม “พลังประชารัฐ เพิ่มพลังสตรีไทย” โดยมีนางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านสิทธิสตรี  และว่าที่ผู้สมัครพปชร. ประกอบด้วย น.ส.ชญาภา ปรีภาพาก   นางนฤมล รัตนาภิบาล นายกานต์ กิตติอำพน น.ส.ณิรินทร์ เงินยวง นายศันสนะ สุริยะโยธิน นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ นายระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ และ ดร.ภญ. สุชาดา เวสารัชตระกูล มาร่วมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรสตรี

การเพิ่มพื้นที่และโอกาสการทำงานของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ และทุกศาสนา  รวมถึงสิทธิและสวัสดิการที่ผู้หญิงควรจะได้รับ มีความสำคัญต่อเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งพปชร.เรามีคนรุ่นใหม่ และผู้มีประสบการณ์ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว แสวงหาแนวทางในการดูแลคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย พปชร.เปิดกว้างรับความคิดเห็นจากทุกฝ่ายสู่การผลักดันโยบายด้านสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเท่าเทียม  

 ทั้งนี้ นอกเหนือจากข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรสตรี กลุ่ม “พลังประชารัฐ เพิ่มพลังหญิงไทย” ได้มีการนำเสนอแนวทางเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการดูแลสตรี และเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การจัดสวัสดิการเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยว และยกระดับศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กก่อนวัยเรียนในชุมชน เป็นต้น 

 นอกจากนี้ น.ส. ชญาภา เสนอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบทุกพื้นที่ น.ส.ณิรินทร์ เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตในชุมชนเพื่อคนทุกช่วงวัย ดร.ภญ.สุชาดา เสนอให้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสิทธิการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม 

ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลของว่าที่ผู้สมัคร พปชร. ที่ได้ลงพื้นที่จริง และพบปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

related