svasdssvasds

ตร.ไซเบอร์เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกขุดเหมืองคริปโต แนะ 9 แนวทางป้องกัน

ตร.ไซเบอร์เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกขุดเหมืองคริปโต แนะ 9 แนวทางป้องกัน

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกลวงลงทุน ซื้อ-เช่า กำลังขุดเหมืองคริปโต แบบ Cloud Mining อ้างผลตอบแทนสูง รับมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เข้าถึงเหยื่อง่ายขึ้น พร้อมแนะ 9 แนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เตือนภัยการหลอกลวงฝาก ลงทุน ซื้อหรือเช่ากำลังขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แบบ Cloud Mining สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง 

ซึ่ง Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส ใช้โค้ดคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่า ผ่านอินเทอร์เน็ต มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด ซึ่งในปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทเป็นกระแส และเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนหน้าใหม่ที่ต่างเข้ามาเก็งเพื่อกำไรในตลาด แต่ก็เป็นหนึ่งในแผนประทุษกรรมที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสหาช่องว่างในการหลอกลวงผู้เสียหาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือการเช่าหรือซื้อกำลังขุดสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), Tether (USDT), Binance Coin (BNB), Dogecoin (DOGE) เป็นต้น รวมไปถึงกรณีที่มิจฉาชีพมักหลอกลวงให้เหยื่อซื้อเหรียญสกุลใหม่ๆ อ้างว่าจะได้เป็นมือแรกๆ แต่สุดท้ายเหรียญนั้นไม่เข้าตลาดซื้อขาย 

นอกจากนี้มิจฉาชีพมักจะใช้บัญชี (Cryptocurrency wallet) ซึ่งไม่ได้เปิดใช้บริการผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย เมื่อมีการโอนแบบ Peer-to-Peer (P2P) หรือผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในต่างประเทศ จะทำให้เกิดความล่าช้า ยุ่งยากซับซ้อนในขั้นตอนการสืบสวนเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิด

ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน บช.สอท. ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายรายผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ว่าถูกมิจฉาชีพชักชวนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หลอกให้ลงทุนในโครงการ EVBOX ซึ่งประกอบธุรกิจการขุดเหมืองแบบ Cloud Mining อ้างว่ามีเหมืองอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน

โดยสมาชิกจะได้รับผลตอบแทน 3-4% ของเงินลงทุนต่อวัน มีการให้จ่ายเงินล่วงหน้าซื้อแพ็คเกจเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงขุด เช่น STARTER, PRO, และ R.O.I. มีการรับประกันการจ่ายเงิน มีโปรโมชันต่อเนื่องให้กับนักลงทุน โดยในช่วงแรกๆ ผู้เสียหายก็ได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง แต่เมื่อเริ่มลงทุนมากขึ้นกลับไม่ได้รับผลตอบแทนแต่อย่างใด มีการอ้างเหตุผลต่างๆ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าวกับ P-Miner หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี มายเนอร์ คริปโทเคอร์เรนซี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 700 ราย ความเสียหายกว่า 900 ล้านบาท

การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตาม พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) วรรคท้าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โฆษก บช.สอท. กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาก็พบการกระทำความผิดในลักษณะของการหลอกลวงให้ลงทุน ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง วิธีการที่มิจฉาชีพนำมาใช้ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องราวไปตามกระแสความสนใจของสังคมในปัจจุบัน โดยอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ 

ซึ่งในปัจจุบันมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายมากยิ่ง ทำให้การหลอกลวงสามารถทำได้หลากรูปแบบ และหลายช่องทางมากขึ้น รวมไปถึงมิจฉาชีพก็มักจะสร้างความน่าเชื่อถือปิดช่องโหว่มากขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มรู้เท่าทันจากการเตือนภัยออนไลน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ 

ทั้งนี้ ขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดังนี้

1.ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ โดยการตรวจสอบว่าเว็บไซต์เปิดมานานเท่าใดแล้ว บริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือมักมีการลงทะเบียนโดเมนแบบไม่ระบุตัวตน หรือตรวจสอบตัวตนได้ยาก โดยสามารถตรวจสอบการจดทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ต่างๆ เช่น https://checkdomain.thaiware.com เป็นต้น

2.ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดี ที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ในแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศ อ้างว่าลงทุนแล้วได้ผลกำไรสูง การันตีผลกำไรแน่นอน

3.มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยบุคคลที่มักนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงเหยื่อ

4. Cloud mining คือ การขุดสกุลเงินดิจิทัลในรูปแบบหนึ่ง โดยใช้ Cloud แทนการลงทุนกับเครื่องขุดส่วนตัว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า นักขุดที่ต้องการใช้บริการจะต้องเช่าเครื่องขุดกับบริษัท Cloud หรือเช่าแรงงานที่ทางบริษัท Cloud ซื้อมาอีกที การขุดในลักษณะเช่นนี้มีความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงสูง ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนจะลงทุน โดยไปตรวจสอบสถานที่ของบริษัท เป็นต้น

5.ตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้บริษัทว่านำเงินจากไหนมาจ่ายให้ผู้ลงทุน

6.ตรวจสอบข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าบริษัทมีการกล่าวถึงการหลอกลวงหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด

7.ผลตอบแทนที่ได้รับมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น การันตีให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น

8.ไม่โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของบุคคลธรรมดา เสี่ยงเป็นบัญชีของมิจฉาชีพหรือบัญชีม้า แต่บัญชีของนิติบุคคล หรือบริษัท ก็ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป

9.หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า “ ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเงิน ” และ “ การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ ”

ทั้งนี้หากพบข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และ www.thaipoliceonline.com

related