รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ติดตามขับเคลื่อนโครงการ “วิทยาศาสตร์พลังสิบ” เดินหน้าเปิดเวทีประเทศไทย เด็กทุกคนต้องได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมอย่างทั่วถึง
วานนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสุปราณี นฤนาทนโรดม ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 ณ หอประชุมโรงเรียนหนองโตง (สุรวิทยาคม) พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานความก้าวหน้าของนักเรียน ที่โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ และโรงเรียนเมืองสุรินทร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบเป็นโครงการที่ดิฉันคิดขึ้นมาให้กับกระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เป็นการเปิดเวทีทั้งประเทศให้เด็กทุกคนได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับชีวิตแต่ละช่วงวัย รัฐบาลเห็นความสำคัญให้เงินมาหมื่นล้านบาทที่จะพัฒนาให้ทุกๆโรงเรียน นักเรียนทุกๆคน ได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมตั้งแต่ระดับประถมจนถึงชั้นมัธยม โดยขณะนี้เรามีโรงเรียนชั้นประถม 100 โรงเรียนที่ได้รับการอบรมเรียบร้อยแล้ว และมัธยมอีก 100 โรงเรียน ที่สมัครและได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนศูนย์ ดังนั้นปีหน้าจาก 100 โรงเรียนก็จะกลายเป็น 1,000 โรงเรียน และ 10,000 โรงเรียนต่อไป”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า สถานศึกษาและครูมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเตรียมผู้เรียนให้มีภูมิคุ้มกัน เรียนในสิ่งที่ชอบ และมีความสุข สิ่งสำคัญที่สุดคือ เน้นสมรรถนะ ไม่เน้นที่สาระอย่างเดียวเหมือนในอดีต
เป้าหมายการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ
1.ให้เด็กต้องเรียนอย่างสนุกได้ลงมือทำ แก้ปัญหา ไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียน
2.ระหว่างเรียนมีรายได้ นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์
3.เรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีแข่งขันได้
นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
รัฐบาลเน้นเดินหน้าพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งใช้ระบบคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลเชิงตรรกะ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ โดยวางเป้าหมายพัฒนาครูและหลักสูตรทางการศึกษา “เด็กเรียน Coding โดยการเล่น…ผู้ใหญ่เรียน Coding โดยการตั้งคำถาม” ส่งเสริมการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา สิ่งนี้ถือเป็นความคาดหวังที่กระทรวงศึกษาธิการอยากจะเห็นเด็กเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพสูงสุด