ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยโอมิครอนอุบัติใหม่หลากหลายสายพันธุ์ย่อยได้เกิดการระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 65 ขณะนี้ในแต่ละประเทศมีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดเกิดเป็นสายพันธุ์หลักแตกต่างกัน
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ประเด็น โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดเกิดเป็นสายพันธุ์หลักในแต่ละประเทศ โดยระบุว่า
โอมิครอนอุบัติใหม่หลากหลายสายพันธุ์ย่อยได้เกิดการระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยขณะนี้(เดือนมกราคม 2566) ในแต่ละประเทศมีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดเกิดเป็นสายพันธุ์หลักแตกต่างกัน
1. ล่าสุดประเทศจีนได้ร่วมแชร์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดในประเทศในช่วงเดือนมกราคม 2566 โดยอัปโหลดขึ้นไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” จำนวน "531 ตัวอย่าง" พบโอมิครอน BA.5.2 มีส่วนแบ่งการระบาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 74% คาดว่าจะเข้ามาแทนที่ BF.7 ซึ่งมีส่วนแบ่งการระบาดลดลงเหลือร้อยละ 23% ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อ BF.7 ในภาคเหนือ ในขณะที่พบ BA.5.2 พบระบาดในทางตอนใต้ของประเทศ
2. ประเทศสหรัฐอเมริกา สายพันธุ์หลักคือ XBB.1.5 ร้อยละ 49.1% ตามมาด้วย BQ.1.1 ร้อยละ 26.9%
3. ประเทศไทย สายพันธุ์หลักคือ BN.1.3 ร้อยละ 45% ตามมาด้วย BN.1.2 ร้อยละ 16% คาดว่าได้เข้ามาแทนที่ BA.2.75 เป็นที่เรียบร้อยเพราะพบ BA.2.75 เพียง 2 รายในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• หมอธีระ เผย "โอมิครอน XBB.1.5" แพร่แล้ว 38 ประเทศ ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด
• รายแรกในไทย! กรมวิทย์ พบโควิดสายพันธุ์ XAY.2 ลูกผสมเดลตา-โอมิครอน แล้ว 1 ราย
• ศูนย์จีโนมฯ เตือนระวัง "เดลตาครอน XBC" แพร่เชื้อเร็วเหมือนโอมิครอน โจมตีปอด
4. ประเทศฟิลิปปินส์ สายพันธุ์หลักคือ BA.2.3.20
5. ประเทศนิวซีแลนด์ สายพันธุ์หลักคือ CH.1.1
6. ประเทศรัสเซีย สายพันธุ์หลักคือ CL.1 4
7. ประเทศออสเตรเลีย สายพันธุ์หลักคือ XBF และ BR.2.1
8. ประเทศอินเดีย สายพันธุ์หลักคือ XBB
9. ประเทศเกาหลีใต้ สายพันธุ์หลักคือ BN.1.3
10. ประเทศญี่ปุ่น สายพันธุ์หลักคือ BF.5
ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 ทั้งจีโนมอย่างต่อเนื่อง (Genomic surveillance) เพื่อตรวจหาและติดตามการแพร่กระจายของโรคโควิดในกลุ่มประชากรของแต่ละประเทศ
โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ได้รวมการถอดรหัสพันธุกรรม 25,000 ยีนมนุษย์ของผู้ติดเชื้อ (whole exome sequencing) ในกลุ่มสีเขียว เหลือง แดง และลองโควิด เข้ามาด้วย เป้าหมายคือสามารถบ่งชี้และตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วชั่วข้ามคืน เช่น เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งจากวัคซีน และการติดเชื้อตามธรรมชาติ
ไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาฉีดแอนติบอดีเสริมภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป สายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาต้านไวรัส รวมทั้งยีนมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอาการของโควิด เช่น ผู้ที่ไม่ติดเชื้อหรือติดเชื้อไม่มีอาการ (ตลอดสามปีที่ผ่าน) กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อในทุกครั้งมีการระบาดของโควิดระลอกใหม่ กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และกล่มผู้เสียชีวิต และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการลองโควิดเพื่อหาทางป้องกันและรักษาเพื่อลดผลกระทบของโรคโควิดต่อสุขภาพของประชากรไทย
ที่มา : Center for Medical Genomics