รฟท. แจงปมดราม่าเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 33 ล้าน ชี้ตัวอักษรยาวขึ้น น้ำหนักมากขึ้น เพิ่มพยัญชนะ-สระเป็น 24 ตัว ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง รื้อกระจกใหม่ทั้งหมด ยันดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยมีการลงนามจ้างบริษัทบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น
เบื้องต้นการกำหนดราคากลาง การรถไฟฯ ได้ดำเนินการผ่านการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง ตามคำสั่งเฉพาะที่ ก.812/2565 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 โดยมีการพิจารณารายละเอียดของการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับชนิด จำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่างๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เป็นเงิน 33,169,726.39 บาท ราคาดังกล่าว ได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ ใช้งบกว่า 33 ล้าน
• สามารถ แนะ การรถไฟฯ แก้ปัญหาส้วมเปิด ควันไอเสีย ส่งผลกระทบสถานีกลางบางซื่อ
• SRTA จ่อพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ-สถานีธนบุรี นำร่องสู่สมาร์ทซิตี้
ขณะเดียวกันผู้รับจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน 150 วัน (5 เดือน) และรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)
โดยเมื่อเริ่มงานผู้รับจ้างต้องเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อขออนุมัติภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยในแผนงานต้องระบุงานติดตั้งเฉพาะงานโครงป้ายตัวอักษร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ด้านของอาคารสถานี พร้อมติดตั้งตราสัญลักษณ์การรถไฟฯให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และต้องดำเนินงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญาภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดจนถึงครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา 150 วัน
นอกจากนี้การจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ยังได้กำหนดจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานจำนวน 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมีตัวอักษรภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และ 1 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ หากรวมทั้ง 2 ฝั่งจะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ
รายละเอียดของอักษรป้ายชื่อที่ขอพระราชทาน ในส่วนที่เป็นชื่ออักษรภาษาไทย มีความสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม 60 เมตร ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยวัสดุอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย การรถไฟฯ ได้ขอเพิ่มตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่มีความสูง 7 เมตร ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน
โดย สลค. ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และ "สถานีกลางบางซื่อ" ดังนี้
• พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า นครวิถี ความหมาย เส้นทางของเมือง
• พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต) ระยะที่ 1 ธานีรัถยา ความหมาย เส้นทางของเมือง
• พระราชทานชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" ว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ความหมาย ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ที่สำคัญป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งป้ายอักษรติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว แต่ผนังกระจกเป็นกระจกหนากว่า 10 มิลลิเมตร ที่ไม่สามารถเจาะรูใหม่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยผนังกระจกใหม่ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจกเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า