รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงความคืบหน้า โครงการ “คนละเครื่อง : พี่แบ่งให้ น้องได้เรียน” รณรงค์บริจาค Smart Devices ตั้งเป้าสิ้นปีนี้มียอดสนับสนุนไม่น้อยกว่า 10,000 เครื่อง
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ CODING แห่งชาติ แถลงข่าว ความคืบหน้า โครงการ “คนละเครื่อง พี่แบ่งให้…น้องได้เรียน” พร้อมด้วย ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ CODING แห่งชาติ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ CODING แห่งชาติ ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ในระยะแรกจะเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และอาชีวะศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีฐานะยากจนแต่มีความตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้ เพื่อให้การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง โดยจะรณรงค์รับบริจาคในระหว่างที่รอการสนับสนุนจากกองทุน USO เพื่อสนับสนุนบริการทางการศึกษา ที่จะสามารถเริ่มต้นได้ในปีงบประมาณ 2566 โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) วงเงินงบประมาณ 2,924,509,500 บาท จำนวน 177,243 เครื่อง
“โครงการนี้จะช่วยให้สถานศึกษามีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และสามารถจัดสรรให้นักเรียน นักศึกษาที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนนำไปใช้ยืมเรียนได้อย่างทั่วถึง เพื่อส่งเสริมช่องทางการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต และที่สำคัญคือจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของเยาวชนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานและขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายว่าถึงสิ้นปี 2565 นี้ น่าจะได้รับการสนับสนุน Smart Devices ไม่น้อยกว่า 10,000 เครื่อง” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ CODING แห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการสำรวจข้อมูลนักเรียนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19และลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของเยาวชนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานและขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเข้าถึงแหล่งความรู้ ซึ่งพบว่านักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีการใช้อุปกรณ์ในการเรียนการสอนค่อนข้างหลากหลาย เช่น อุปกรณ์ Smart Devices, Notebook, Computer PC และ TV ทั้งนี้ยังพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากระบุว่าไม่มีอุปกรณ์ใช้ในการเรียน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีจำนวนนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ทั่วประเทศ จำนวน 1,410,024 คน แบ่งเป็น 1. มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 23,433 คน 2. มัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 50,946 คน 3. ประถมศึกษา จำนวน 1,292,881 คน 4. ประถมศึกษา (ขยายโอกาส) จำนวน 41,184 คน 5. ปวช. จำนวน 1,198 คน 6. ปวส. จำนวน 382 คน