ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ปาฐกถาพิเศษ “ในงานเสวนา “ย้ายเมือง หรือ อยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ” โดยชัชชาติชี้ว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่คือผู้คน ฉะนั้นการย้ายผู้คนจึงไม่ใชเรื่องง่าย การปรับปรุงแก้ปัญหา จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด
เมื่อวานนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองหลวง ปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย” ในงานเสวนาระดมความคิดเพื่อหาทางรับมือ “ย้ายเมือง หรือ อยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ” ณ ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เขตพระนคร
โดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงโจทย์ “ทำไมต้องย้ายกรุงเทพฯ” ซึ่งมีเหตุผลหลายด้านนอกเหนือจากน้ำท่วม อาทิ เมืองทรุด น้ำทะเลหนุน รถติด การจราจร คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม มลพิษ ที่อยู่อาศัยราคาแพง หรือผังเมืองไม่ดี
ข่าวเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาของกรุงเทพฯ นอกเหนือจากน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากพื้นที่กรุงเทพฯ ต่ำกว่าระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำทะเลหนุน น้ำฝนแล้ว ยังมีในส่วนของวินัยของคน ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ การทิ้งขยะชิ้นใหญ่ในแหล่งน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งหากย้ายเมืองไปที่อื่น แต่ยังมีการทิ้งขยะแบบนี้ ปัญหาก็เหมือนเดิม
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าน้ำท่วม อาทิ การกระจุกตัวของแหล่งงานใจกลางเมือง มูลค่าที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองแพง คนจึงมักจะซื้อบ้านนอกเมืองแล้วเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรแออัดตามมา การแก้ปัญหา แทนที่จะย้ายเมือง กระจายเมืองได้หรือไม่ กระจายงานออกด้านนอกมากขึ้นได้หรือไม่ เป็นต้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ความหมายของเมืองไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่เมืองคือคน เมืองคือตลาดแรงงาน หรือ labor market ความหมายการย้ายเมืองหลวงอาจจะมีมิติอื่นที่ไม่เหมือนในสมัยก่อน เพราะสมัยก่อนเศรษฐกิจถูกควบคุมโดยภาครัฐ แต่ปัจจุบันเป็น market control ที่เมื่อก่อนย้ายได้เพราะราชการเป็นคนจ้างงาน ปัจจุบันคนที่จ้างงานส่วนใหญ่คือเอกชน คำว่าย้ายเมืองจึงไม่ง่าย เพราะเป็นการย้ายคน ย้ายเศรษฐกิจ ย้ายตลาดแรงงาน ไม่ใช่การย้ายหน่วยงานราชการ
นอกจากนี้ อนาคตงานเปลี่ยนรูปแบบแล้ว location ไม่สำคัญแล้ว เพราะคนจะทำงานบนคลาวด์ (cloud) ขาย digital service ผ่านระบบออนไลน์ ถ้าจะย้ายเมืองหลวงหรือกรุงเทพฯ ก็คือการย้ายบริการไปอยู่บนคลาวด์
ยกตัวอย่างที่ กทม. ดำเนินการอยู่ เช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ การยื่นขออนุญาตทางออนไลน์ การปรับการให้บริการเป็น one stop service การจัดทำ open data เป็นต้น ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เราสั่งการ แต่เกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐศาสตร์ด้วย เบื้องต้นคือปรับปรุงก่อน มีแผนรับมือต่าง ๆ อย่างเต็มที่ก่อน สุดท้ายเดี๋ยว market กำหนดเอง
สำหรับการเสวนาระดมความคิดเพื่อหาทางรับมือ “ย้ายเมือง หรือ อยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ” นิตยสารสารคดีร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดขึ้น โดยมี ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา กล่าวเปิดงาน จากนั้นเข้าสู่ช่วงการเสวนาเปิดมุมมองกับวิทยากรพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่
1. “ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และธรณีสัณฐานวิทยาของเมืองกรุงเทพฯ” โดย ผศ.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. “ถอดบทเรียน ประเทศเพื่อนบ้านกับการย้ายเมืองหลวง” โดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. “วิศวกรรมเพื่อการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มต่ำ” โดย รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และมีการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยตัวแทนจากชุมชนในกรุงเทพฯ ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
ที่มา FB กรุงเทพมหานคร