ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัย กลโกง "มิจฉาชีพ" สร้างเว็บปลอมลอยกระทงออนไลน์ 2565 หลอกให้ใส่ข้อมูลสำคัญ - ข้อมูลการเงิน พร้อมแนะแนวทางป้องกัน ก่อนตกเป็นเหยื่อในช่วงวันลอยกระทง
วันลอยกระทงในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 8 พ.ย. 65 แต่ละปีจะตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งในปีนี้รัฐบาลอนุญาตให้จังหวัดต่างๆ สามารถจัดงานเทศกาลลอยกระทงได้ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณี ขอขมาพระแม่คงคา และเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่มีประชาชนบางส่วนที่อาจไม่สะดวกที่จะออกมาร่วมกิจจกรรม มักจะใช้บริการลอยกระทงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งจะมีการให้ประชาชนกรอกข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพื่ออธิษฐานขอพรแบบออนไลน์
ข้อดีของการลอยกระทงออนไลน์
1. ลดการเดินทาง ลดการใช้พลังงาน
2. สืบสานประเพณีไทย
3. สร้างสัมพันธ์อันดีกับคู่รัก ครอบครัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ลอยกระทง 2565 ที่ไหนดี เช็กสถานที่จัดงาน “กทม.-ททท.-เอกชน” มีกิจกรรมเพียบ
• ลอยกระทง 65 กทม. จัดเจ้าหน้าที่ 2,000 นาย ดูแลความปลอดภัยโป๊ะ ท่าเทียบเรือ
• ประวัติวันลอยกระทง เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ เปิดที่มาตำนานนางนพมาศ
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสใช้วันลอยกระทง โดยการสร้างเว็บไซต์ลอยกระทงออนไลน์ปลอมขึ้นมาทั้งหมด หรือเว็บไซต์ปลอมที่คล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกลวงให้ประชนกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงิน เช่น
• ชื่อ-นามสกุล
• วัน เดือน ปีเกิด
• เบอร์โทรศัพท์
• หมายเลขบัตรประชาชน
• เลขบัญชีธนาคาร
• เลขบัตรเครดิต
• รหัสหลังบัตร 3 หลัก
• รหัส OTP
เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก ไลน์ โดยมิชอบ แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น หรือใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า หรือถูกโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ
โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
สำหรับการการกระทำดังกล่าวจะมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว พร้อมแนวทางการป้องกัน
• ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม หรือเว็บไซต์เสมือน หากต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์หรือกรอกชื่อเว็บด้วยตนเอง
• อย่ากดลิงก์ที่เเนบมากับอีเมล หรือความสั้น (SMS) ที่น่าสงสัย ไม่ทราบเเหล่งที่มา
• หากต้องกรอกข้อมูล ควรกรอกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากมีการขอข้อมูลในส่วนที่ไม่จำเป็น ให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน หากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนโดยตรง
• ไม่โพสต์ข้อมูลที่สำคัญลงในสื่อสังคมออนไลน์ และควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวจำกัดผู้เข้าถึงข้อมูล
• ตั้งรหัสผ่านให้คาดเดาได้ยาก เช่น ใช้อักษรตัวพิมเล็ก ตัวพิมใหญ่ ใช้อักขระพิเศษ ตัวเลข มารวมกัน อย่าใช้ชุดเลขที่เกี่ยวข้องกับวันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ และเปิดใช้งานการเข้าถึงแบบหลายชั้น เช่น การใช้ร่วมกับ OTP หรือการยืนยันตัวตนหลายปัจจัย
ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือ ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
รวมเว็บไซต์ที่เปิดให้ลอยกระทงออนไลน์ 2565
• ลอยกระทงวิถีใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม
• mthai ชวนลอยกระทงออนไลน์
• ลอยกระทงกับสนุก สุขล้นตลิ่ง คลิ๊กที่นี่
• ลอยกระทงออนไลน์กับ Longdo.com
• เว็บไซต์ ecard design animation
• สร้างกระทงออนไลน์ในแบบของคุณกับเว็บ The Old Siam