พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้ กฎกระทรวงการผลิตสุรา 2565 ไม่ใช่การปลดล็อก ยังกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย รัฐบาลแก้กฎกระทรวงการผลิตสุราก่อนหน้าการลงมติเพียง 1 วัน คือความจงใจใช้เป็นข้ออ้างล้มกฎหมายสุราก้าวหน้า
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชี้ กฎกระทรวงการผลิตสุรา 2565 ไม่ใช่การปลดล็อก ยังกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย รัฐบาลแก้กฎกระทรวงการผลิตสุราก่อนหน้าการลงมติเพียง 1 วัน คือความจงใจใช้เป็นข้ออ้างล้มกฎหมายสุราก้าวหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ในสภาวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งแนวโน้มของกฎหมายนี้คือ “ผ่าน” ทว่าอยู่ดีๆ ครม. กลับมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ออกมาก่อนที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพียง 1 วัน
สำหรับกฎหมายสุราก้าวหน้า ก่อนที่จะเดินทางมาถึงการลงมติครั้งสุดท้ายของสภาในวัน 2 พฤศจิกายน ส.ส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ได้ทำงานมาแล้ว 6 ปี ตั้งแต่ก่อนมีพรรคอนาคตใหม่ และเมื่อเราได้เข้าสู่สภาก็ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้กฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็น การยื่นหนังสือถึงกรมสรรพสามิต การผลักดันผ่านกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ และความพยายามทั้งในที่แจ้งและทางลับอื่นๆ เพื่อผลักดันให้กฎกระทรวงมีการแก้ไข คู่ขนานไปกับการผลักดันแก้กฎหมายผ่านสภาซึ่งกว่าจะถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระต้องใช้เวลาอันยาวนาน แต่สิ่งที่เราได้รับจากรัฐบาลและฝ่ายบริหารมีแต่ความเงียบ…
นั่นทำให้ความหวังสุดท้ายของการปลดล็อกธุรกิจสุราไทยให้เป็นของประชาชนมีเพียงหนทางเดียว คือกฎหมายสุราก้าวหน้า ที่ ส.ส. หลายคนจากหลายพรรคเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ของประชาชน และด้วยความร่วมมือร่วมใจของ ส.ส. ทุกพรรคก็ทำให้กฎหมายฉบับนี้เดินทางมาถึงบทสุดท้าย คือการลงมติวาระ 2-3 วันพรุ่งนี้
ถ้ามีความพยายามผลักดันแก้กฎกระทรวงเร็วกว่านี้สัก 4 ปี ตนอาจจะชื่นชม แต่การออกกฎกระทรวงตัดหน้าการลงมติ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ทำให้เราตีความเจตนาของรัฐบาลเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการคว่ำกฎหมายสุราก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลเสนอ
สิ่งที่เราต้องเน้นย้ำตรงนี้ก็คือ กฎกระทรวงที่รัฐบาลออกมา “ไม่ใช่การปลดล็อกธุรกิจสุราให้เป็นของประชาชน” แต่เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ที่ยังมีผลในการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้
1. ยังคงเพดานไม่ให้ผลิต “เพื่อการค้า” หรือผลิตมากกว่า 200 ลิตร ต่อปี แต่ไม่ว่าจะผลิตเพื่อการค้าหรือไม่ ก็ต้อง “ขออนุญาต” จากกรมสรรพสามิต ทั้งๆ ที่ในกฎหมายสุราก้าวหน้า เพียงแค่ “จดแจ้ง”
2. ใครที่ต้องการผลิตเพื่อการค้า ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วน
3. ต้องมีกำลังการผลิต 5 แรงม้า คนงาน 7 คน ให้ครบ 1 ปี ก่อน ถึงจะขยับขยายไปผลิต 50 แรงม้าได้
4. โรงเบียร์ที่ทำการขาย ณ สถานที่ผลิตหรือ Brewpub ต้องมีใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม
5. ผู้ประกอบการที่ต้องการขายแบบบรรจุขวด ต้องผ่านการทำ EIA ซึ่งต้นทุนในการทำสูงมาก 3-5 ล้านบาท
6. การผลิตสุรากลั่นชนิดพิเศษ วิสกี้ ยิน บรั่นดี ยังคงกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อปี สุรากลั่นอื่นยังคงต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตรต่อปี และต้องมีใบอนุญาตโรงงาน
ดังนั้น อย่าไปหลงเชื่อวาทกรรมที่รัฐบาลพูด ที่บอกว่าเมื่อมีการแก้ไขกฎกระทรวงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายสุราก้าวหน้า เพราะในความเป็นจริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ถูกร่างขึ้นมาเพื่อเป็นข้อจำกัดไม่ให้มีการปลดล็อกการผลิตอย่างแท้จริง
นี่คือความพยายามด่านสุดท้ายในการใช้อำนาจฝ่ายบริหารปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุน พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าทางออกของการปลดปล่อยธุรกิจสุราออกจากมือนายทุน ต้องเป็นกฎหมายสุราก้าวหน้าเท่านั้น เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้การผูกขาดทางธุรกิจกลับมาอีก ไม่ใช่เพียงแค่การใช้อำนาจของคนไม่กี่คนเปลี่ยนกฎกระทรวง
ตนขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า ถ้าท่านมีความจริงใจ ยังทันที่ท่านจะตัดสินใจสนับสนุนกฎหมายสุราก้าวหน้า เพื่อให้เม็ดเงินธุรกิจสุราหลายแสนล้านบาทต่อปี กระจายออกจากมือเจ้าสัวไปถึงมือประชาชน