svasdssvasds

มช.ค้นพบ เหลืองปิยะรัตน์ พืชชนิดใหม่ของโลก หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ที่นราธิวาส

มช.ค้นพบ เหลืองปิยะรัตน์ พืชชนิดใหม่ของโลก หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ที่นราธิวาส

เหลืองปิยะรัตน์ พืชชนิดใหม่ของโลก หายากและใกล้สูญพันธุ์เต็มทีแล้ว ถูกค้นพบในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้องเร่งศึกษาวิจัยและเร่งอนุรักษ์แล้ว! เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “เหลืองปิยะรัตน์” ที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถูกระบุว่าเป็นพืชหายากในวงศ์กระดังงา ดอกมีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอม แต่หายากและใกล้สูญพันธุ์มากแล้ว

มช.ค้นพบ เหลืองปิยะรัตน์ พืชชนิดใหม่ของโลก หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ที่นราธิวาส

หลังจากค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลมหาพรหม ซึ่งได้รับพระราชทานนาม “พรหมจุฬาภรณ์” เมื่อปี 2562 ล่าสุดนักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู และนักศึกษาระดับปริญญาเอก ได้แก่ นางสาวฉัตรธิดา วิยา (สาขาวิชาชีววิทยา) และนางสาวอานิสรา ดำทองดี (สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์) พร้อมทั้งนายนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง และนายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยอิสระ ได้ร่วมกันศึกษาตัวอย่างพืชจากอำเภอจะแนะ และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยบูรณาการข้อมูลสัณฐานวิทยาและวิวัฒนาการชาติพันธุ์เชิงโมเลกุลเข้าด้วยกัน พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 1 ชนิด คือ เหลืองปิยะรัตน์

ดอกเหลืองปิยะรัตน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลืองปิยะรัตน์มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨𝙥𝙞𝙮𝙖𝙚 Wiya, Aongyong & Chaowasku โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิจัยอาวุโส ผู้ริเริ่มการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Taiwania ปีที่ 66 ฉบับที่ 4 หน้าที่ 509-516 พ.ศ. 2564 โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงาในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

มช.ค้นพบ เหลืองปิยะรัตน์ พืชชนิดใหม่ของโลก หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ที่นราธิวาส

เหลืองปิยะรัตน์มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 เมตร มีก้านดอกยาว กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดเล็กคล้ายกลีบเลี้ยง กลีบดอกชั้นในเมื่อเจริญเต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม ที่โคนกลีบมีสีม่วงอมน้ำตาล ดอกมีกลิ่นหอม ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมื่อสุกสีแดงสด จากการสำรวจพบเหลืองปิยะรัตน์เพียงไม่กี่ต้นในหย่อมป่าดิบชื้นที่ถูกรบกวน ซึ่งรายล้อมไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางจนสูญพันธุ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษา นอกจากเหลืองปิยะรัตน์แล้ว ในประเทศไทยยังพบพืชสกุล 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨 อีก 1 ชนิด คือ หัวลิง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨 𝙡𝙪𝙘𝙞𝙙𝙪𝙨 Oliv. โดยพบที่จังหวัดนราธิวาสและยะลา  

เหลืองปิยะรัตน์ตอนออกดอกแก่ๆ

“เหลืองปิยะรัตน์มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงามและมีกลิ่นหอม นอกจากนี้พบว่าผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้พืชสกุล 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨 ชนิดอื่น ๆ เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคตา ดังนั้นอาจพัฒนาเหลืองปิยะรัตน์เป็นพืชสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

แม้ว่าบนโลกนี้จะมีต้นไม้อีกหลายสายพันธุ์ที่เราอาจจะยังไม่ได้ค้นพบ แต่ต้นไม้บางต้นที่เคยอยู่บนโลก กำลังค่อย ๆ สูญหายหรือสูญพันธุ์ไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และจากน้ำมือมนุษย์ ต้นไม้ 2 ใน 3 ทั่วโลกถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากเป็นจริง ทั้งระบบนิเวศน์ก็ล่มสลาย ไม่ต่างจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็เป็นไปได้

related