พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน เห็นชอบ 4 มาตรการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน และยาเสพติด
วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน โดยได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า “ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่ามีสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดผลกระทบต่อจิตใจประชาชน จากเหตุการณ์กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก ที่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู
“จากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลรวมทั้งคนไทยทั้งประเทศมีความห่วงกังวลถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การครอบครองอาวุธปืน และการเยียวยาผู้เสียหายทั้งระบบ ต้องขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีการประชุมหารือกันในขั้นต้น ในการกำหนดมาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว มีผลเป็นรูปประธรรมในด้านความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน ตลอดจนป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยได้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
ในการประชุมดังกล่าว บิ๊กตู่ได้เห็นชอบมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด ซึ่งประกอบด้วย
บทความที่น่าสนใจ
นายกฯ ขอทุกส่วนราชการ ลดธงครึ่งเสา 1 วัน ไว้อาลัยเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
3 องค์กรสื่อ ขอเลี่ยงภาพ-ตั้งคำถามซ้ำเติมความทุกข์ญาติ กราดยิงหนองบัวลำภู
1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน
1.1 กวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน และกระสุนปืนอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา
1.2 ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่าไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน / สำหรับในส่วนความประพฤติหรือพฤติกรรมต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
1.3 เพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม การใช้ยาเสพติด และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
1.4 กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง
1.5 ทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้มีความทันสมัย
เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน และยาเสพติด
2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2.1 ควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด “โซเดียมไซยาไนต์”
2.2 เร่งติดตาม สืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน
2.3 บูรณาการนำผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส.
2.4 ทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นปริมาณการครอบครอง เพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู
2.5 สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
3. มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
3.1 ค้นหา คัดกรองผู้ป่วย SMIV เข้าสู่สถานฟื้นฟูฯ ภาคีเครือข่าย
3.2 เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล ทั้ง สธ.และ อปท. และสถานบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานสากล
3.3 บูรณาการการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment) ให้ครอบคลุมทุกตำบล
3.4 พัฒนาพฤตินิสัย ร่วมกับการบำบัดฟื้นฟู โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อความรุนแรง หรือเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง และใช้กำไล EM เพื่อการติดตามดูแล
การประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน
4. การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
4.1 จัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตใน โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง / สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน / หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง
4.2 ทำการบำบัดฟื้นฟูทันที โดยจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ จัดตั้งหน่วยบูรณาการ จิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอ ระบบดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
4.3 ใช้ชุมชนบำบัด เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาจิตเวชทางไกล การดูแลต่อเนื่องในชุมชนในผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง