svasdssvasds

ดร.กฤษณพงค์ แนะ 3 วิธีการเอาตัวรอดเหตุกราดยิง

ดร.กฤษณพงค์ แนะ 3 วิธีการเอาตัวรอดเหตุกราดยิง

ดร.กฤษณพงค์ เผย ต้องยอมรับว่า "เหตุกราดยิง" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป แนะ 3 วิธีการเอาตัวรอดเหตุกราดยิง

จากกรณีเหตุกราดยิงที่ "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" ในพื้นที่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทางด้าน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์นี้ ต้องยอมรับว่า "เหตุกราดยิง" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป 

ดร.กฤษณพงค์ ระบุว่า นับตั้งแต่เหตุกราดยิงที่เทอร์มินัล 21 จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2563 หน่วยงานความมั่นคง เช่น ตำรวจ และทหาร มีการให้ความสำคัญในการสอดส่องดูแลกำลังพลมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ภาคประชาชนเองต้องให้ความสำคัญกับการเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิงมากขึ้นเช่นกัน

ที่สำคัญต้องมีการฝึกซ้อมทบทวนการเอาตัวรอดเป็นประจำ ผู้บริหารในระดับองค์กร ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการดังกล่าวและกำหนดออกมาเป็นนโยบาย เพราะหากไร้ซึ่งการฝึกซ้อม ทบทวนวิธี "หนี ซ่อน สู้" เพื่อเอาตัวรอดเหตุกราดยิง ก็จะไม่เกิดประโยชน์

ทั้งนี้ ข้อมูลจากภาควิชาศัลยแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า หากบังเอิญตกอยู่ในเหตุกราดยิง สิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเร่งด่วนที่สุดมี 3 ขั้นตอน คือ การหลบหนี การหลบซ่อน และการต่อสู้ (Run, Hide, Fight) โดยมีวิธีดังนี้

การหลบหนี (Run)

หนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โดยสังเกตทางเข้าออกและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำ วางแผนและเตรียมพร้อมในการหลบหนีออกจากสถานที่นั้นอย่างรวดเร็วที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางหนีที่คับแคบมีสติอยู่เสมอขณะหลบหนี 

การหลบซ่อน (Hide)

ในกรณีที่ไม่สามารถหลบหนีได้ควรหาที่หลบซ่อน เพื่อให้รอดพ้นสายตาของผู้ก่อเหตุให้มากที่สุด เช่น ปิดไฟมืด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สื่อสารที่ทำให้เกิดเสียง เช่น ทีวี วิทยุ เปลี่ยนโหมดโทรศัพท์มือถือเป็นระบบสั่น พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย และไม่ควรอยู่ใกล้ที่เสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าต่าง ริมประตู กระจก 

การต่อสู้ (Fight)

หากอยู่ในสถานการณ์คับขันที่ไม่สามารถหลบหนีหรือซ่อนตัวได้ วิธีสุดท้ายในการเอาตัวรอดคือการต่อสู้โดยใช้สติและกำลังทั้งหมดที่มี โดยมองหาจุดบอดของผู้ก่อเหตุให้ได้ หากอยู่รวมกันหลายคนควรช่วยกันต่อสู้เพื่อให้ผู้ก่อเหตุบาดเจ็บให้มากที่สุด นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรทำคือการร้องอ้อนวอนขอชีวิต เพราะมักไม่ได้ผล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

ส่วนกรณีผู้ก่อเหตุกราดยิงเป็นตำรวจนั้น ทราบว่า ทำผิดวินัยร้ายแรงและถูกไล่ออกจากราชการ ดังนั้นการไปโทษหน่วยงานคงไม่ถูก เพราะเป็นความผิดจากตัวบุคคล

อย่างไรก็ตาม ขอเสนอความเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจ ทหาร ที่ถูกไล่ออกจากราชการ จำเป็นต้องทบทวนการให้ครอบครองอาวุธ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาจากความผิดที่ถูกให้ออกจากราชการเป็นหลัก

related