พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ สั่งให้เตรียมใช้ 10 ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำ พร้อมยืนยันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในปีนี้ยังน้อยกว่าปี 54 และปี 64
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการดำเนินการโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และพบปะให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จากอิทธิพล "พายุโนรู" ทำให้ฝนตกหนักมากและเกิดน้ำหลากน้ำท่วมขังที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
และขอให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ เร่งแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้สั่งการให้จังหวัด กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมให้ สทนช. ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และ เตรียมแผนการส่งน้ำเข้าทุ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าด้วย
ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุด (3 ต.ค.65) มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนทั้ง 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 18,057 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 73% ของปริมาณการกักเก็บ และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 6,814 ล้าน ลบ.
"การระบายน้ำ ณ สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,643 ลบ.ม./วินาที ซึ่งพบว่าน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 54 ที่ระบายในอัตรา 3,628 ลบ.ม./วินาที และยังน้อยกว่าปี 64 อัตรา 2,776 ลบ.ม./วินาที แม้ว่าปริมาณฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับช่วงเวเลาเดียวกันในปี 2554 แต่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันล่วงหน้า" ดร.สุรสีห์ ระบุ
การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เขื่อนทุกขนาด และพื้นที่แก้มลิง เพื่อชะลอน้ำหลากในพื้นที่ตอนบนให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด ยังอาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบ้าง ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง