svasdssvasds

ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลบิ๊กตู่ กับการดำเนินการจริง ผลออกมาเช่นไร ?

ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลบิ๊กตู่ กับการดำเนินการจริง ผลออกมาเช่นไร ?

ทบทวนความทรงจำ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 8 ข้อของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับการดำเนินการจริงในมุมมองของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เป็นการแก้ปัญหา หรือสร้างปัญหาให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ในนโยบาย 12 ด้านของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ในการดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 ซึ่งใช้ชื่อว่า “การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน” มีทั้งหมด 8 ข้อด้วยกัน

โดยเราจะพาย้อนไปทบทวนความทรงจำ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับการดำเนินการจริง ในมุมมองของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหา หรือสร้างปัญหาให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น ซึ่งทั้ง 8 ข้อ มีดังต่อไปนี้

1. ปกป้อง รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชายเลนและป่าชุมชน

รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างจริงจัง รวมถึงเร่งฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม แก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่ซ้ำซ้อน เร่งคืนพื้นที่ป่าโดยการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและสามารถทำกินได้อย่างเหมาะสม

นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมบทบาทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลบิ๊กตู่ ! การดำเนินการจริง ผลออกมาเช่นไร ?

บทความที่น่าสนใจ

2. ปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน

จัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกรตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำและมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกรและผู้ยากจน

จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่ดิน จัดทำหลักฐานการถือครองที่ดินของรัฐทุกประเภท จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน และเร่งแก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน เพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

3. ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แหล่งน้ำชุมชน และทะเล

เชื่อมโยงกับแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของประเทศ เพิ่มผลิตผลในการจัดการและการใช้น้ำทุกภาคส่วน จัดให้มีน้ำสะอาดใช้ทุกครัวเรือนในชุมชนชนบท ในปริมาณ คุณภาพ และราคาที่เข้าถึงได้

มีระบบการจัดการน้ำชุมชนที่เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์ พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่พักน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ แอ่งน้ำบาดาล การระบายน้ำชายฝั่ง เพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้นํ้าให้ทัดเทียมระดับสากล ดูแลภัยพิบัติจากน้ำ พัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างระบบจัดสรรน้ำที่เป็นธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในชุมชนตามแนวพระราชดำริ

ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลบิ๊กตู่ ! การดำเนินการจริง ผลออกมาเช่นไร ?

4. สร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรแร่ และทรัพยากรทางทะเล

และชายฝั่งเพื่อการพัฒนาประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่อย่างเหมาะสม เป็นธรรม และคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของภาคประชาชน

จัดทำเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองบนพื้นฐานศักยภาพแร่และมีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างเหมาะสม ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยบริหารจัดการเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด โดยใช้แผนที่การจำแนกเขตทางทะเลและชายฝั่ง (one marine chart) บริหารจัดการทรัพยากรแร่และแหล่งพลังงานในทะเล รวมทั้งมลพิษและขยะในทะเลให้มีประสิทธิภาพ

จัดทำผังชายฝั่งและฝั่งทะเลที่ชัดเจน และกำหนดพื้นที่การพัฒนาในรูปแบบต่างๆ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและสอดคล้องกับภูมิศาสตร์และทรัพยากรในพื้นที่ รักษาแนวปะการังที่สำคัญต่อการท่องเที่ยว รักษาป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญต่อประมงและสัตว์หายาก

5. แก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างสังคมคาร์บอนต่ำและปลอดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน กำหนดมาตรการควบคุมการเผาพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

และภาคเอกชนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมและให้สัตยาบันไว้

6. พัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม อาทิการจัดการขยะหรือของเสีย เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตหรือบริโภคที่หลากหลาย และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

7. พัฒนากลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับประเทศ รายสาขา และเชิงพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดความขัดแย้งระหว่างยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะระหว่างยุทธศาสตร์รายสาขากับยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่

8. แก้ไขปัญหาการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ

โดยเริ่มจากการส่งเสริมและให้ความรู้ในการลดปริมาณขยะในภาคครัวเรือนและธุรกิจ การนำกลับมาใช้ซ้ำการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณและต้นทุนในการจัดการขยะของเมือง และสามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย รวมทั้งพัฒนาโรงงานกำจัดขยะและของเสียอันตรายที่ได้มาตรฐาน

ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลบิ๊กตู่ ! การดำเนินการจริง ผลออกมาเช่นไร ?

ตลอดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ หากว่ากันในภาพรวมๆ ก็ต้องรับว่า มีแอ็กชั่นพอสมควรในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายๆ โครงการหรือการดำเนินการแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา ก็กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นมา

อาทิเช่น คำสั่ง คสช.4/2559  และ 9/2259 ที่ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและ EIA รวมถึง กิจการรีไซเคิลและกำจัดขยะ รวมถึงมีกฎหมายใหม่ๆ อย่าง พ.ร.บ.โรงงาน ที่ผ่อนปรนกฎระเบียบให้สามารถอนุญาตก่อตั้งโรงงานรับกำจัดขยะได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมีการทำ EIA ที่ส่งกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลายๆ ชุมชน เป็นต้น

หรือคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 หรือที่เรียกว่า นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากถูกยึดพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากการดำเนินการอย่างไม่คำนึงถึงปัญหาอย่างครอบคลุมในทุกมิติ  

โดยช่วงก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปม 8 ปี นายกฯ นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.พรรคก้าวไกล ก็ได้เผยแพร่บทความที่ชื่อว่า 8 ปีรัฐบาลประยุทธ์ 8 ปีการพังทลายด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียดดังนี้  

8 ปีรัฐบาลประยุทธ์ 8 ปีการพังทลายด้านสิ่งแวดล้อม

1. นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นิติพล ผิวเหมาะ ระบุว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นไอเดียทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างตกยุค เพราะนี่คือการย้อนกลับไปมองหาความสำเร็จแบบยุคสมัยที่ประกาศว่าเราจะเป็นนิคส์ เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ จึงมุ่งเปิดพื้นที่พิเศษเพื่อจูงใจให้ต่างชาตินำเม็ดเงินมาลงทุน

โดยไอเดียเหมือนดี แต่เรามีบทเรียนจากในอดีตเช่นกันว่า ในขณะที่ประเทศได้เศษเงินกำไรจากของนายทุนนั้น เราอาจต้องเสียงบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมากกว่าเพื่อไปฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและรักษาสุขภาพ ส่วนคนที่ได้ผลประโยชน์นั้นก็มีแค่ไม่กี่คนหรือไม่กี่กลุ่ม

ในอดีตโครงการแบบนี้อาจมีส่วนดีอยู่ก็จริง แต่ในยุคนี้แนวโน้มของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสมัยใหม่เปลี่ยนไปมาก จะต้องมองหาความสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่เอาทรัพยากร เอาแรงงานค่าแรงถูกไปแลกมา

การลงทุนในโลกยุคใหม่เปลี่ยนไป หลายประเทศในอาเซียนเองหลังยุคสงครามก็มีพื้นที่ที่เป็นตัวเลือกให้ธุรกิจต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น โครงการนี้เมื่อผลักดันไปแล้วดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจตามเป้าหมายเท่าที่ควร ซ้ำยังเอื้อต่อการให้หาประโยชน์จากการเปลี่ยนสีผังเมืองในเขตที่ดินของพวกพ้องตัวเองครั้งมหาศาล ส่วนหลายอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นก็เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ดังเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขยะ

ในเรื่องนี้ ตนเคยเสนอให้คิดใหม่ด้วยการเปลี่ยนจากการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็น ‘เขตนิเวศวัฒนธรรมพิเศษ’ ซึ่งจะดีกว่ามาก ถึงเวลาที่เราต้องเลิกเอื้อนายทุนแล้วหันมาคืนสิทธิให้พี่น้องประชาชนและชาติพันธุ์ได้มีส่วนร่วมดูแลป่าด้วยวิถีชีวิตในแบบเขา

สร้าง Soft Power จากวัฒนธรรม สร้างสินค้าใหม่ ๆ ภายใต้ความยั่งยืน และดังที่พูดไปแล้วในหลายเวทีคือ หากส่งเสริมให้พื้นที่ขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างถูกทิศทาง เม็ดเงินก็จะกระจายถึงมือชุมชน

ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลบิ๊กตู่ ! การดำเนินการจริง ผลออกมาเช่นไร ?

2. ถังขยะโลก (การนำเข้าขยะ)

การยึดอำนาจของ คสช. ส่งผลต่อมาตรการกำกับกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.4/2559 ที่ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับกิจการรีไซเคิลและกำจัดขยะ รวมถึงมีกฎหมายใหม่ๆ อย่าง พ.ร.บ.โรงงาน ที่ผ่อนปรนกฎระเบียบให้สามารถอนุญาตก่อตั้งโรงงานรับกำจัดขยะได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมีการทำ EIA  นั้น

ผลที่ตามมาคือการลงทุนในกิจการเกี่ยวกับขยะที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ทำกำไรได้สะดวก แถมไม่ต้องใส่ใจรับผิดชอบอะไรกับผลกระทบ เดี๋ยวนี้แทบทุกที่จะมีสักคนพยายามผลักดันให้มีโรงงานขยะรีไซเคิลหรือโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ตัวเอง แต่ในสภาพจริง ขยะก็ยังท่วมเมืองอยู่ดี

สาเหตุก็มาจากการนำเข้าขยะเทศบาลจากต่างประเทศที่สามารถลดต้นทุนได้มากกว่าการนำขยะในประเทศมารีไซเคิลจริง เนื่องจากส่วนใหญ่ขยะต่างประเทศเป็นขยะที่คัดแยกมาเป็นอย่างดีแล้วครับ และบางส่วนก็ยังมีสภาพดีเป็นสินค้าที่มีราคาสำหรับบ้านเรามากกว่าที่จะเป็นขยะเสียด้วยซ้ำ

การนำเข้าขยะปัจจุบันนี้ถูกสั่งห้ามแล้ว แต่เมื่อโรงงานยังมีมากมายจึงทำให้เกิดปัญหาในสองทาง ด้านหนึ่งคือการลักลอบนำเข้าขยะ ดังที่เป็นข่าวว่าสุ่มตรวจเจอทีเป็นหลายร้อยตัน ถึงจะผลักดันให้ส่งกลับและมีค่าปรับ แต่นั่นเป็นแค่การไล่ตามปัญหาเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องยากที่จะไล่ตรวจตู้สินค้าทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ทุกวัน

การลักลอบนำเข้าจึงจะคงอยู่ต่อไปตามปริมาณของโรงขยะ แต่ขณะเดียวกันขยะในประเทศก็จะไม่ถูกนำไปกำจัด เพราะเป็นขยะที่ต้องเสียเวลาคัดแยก จึงถูกปล่อยปละละเลยเหมือนเดิม จนแม้แต่อาชีพซาเล้งซึ่งเป็นห่วงโซ่สำคัญของการกำจัดขยะก็กำลังหายไป เพราะเมื่อขยะในประเทศไม่เป็นที่ต้องการ ขยะก็จะถูกทิ้งไว้ มีแต่กองขยะเกิดขึ้นมากมายทั้งเถื่อนและไม่เถื่อนเต็มไปหมด ซึ่งปัญหาขยะนี่ล่ะครับจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของสังคมไทยแน่นอน

โดยรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 เมื่อสำรวจสถานที่กำจัดขยะทั้งหมดในประเทศจำนวน 2,789 แห่ง พบว่า กำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 2,171 แห่ง หรือร้อยละ 80 ทั้งที่มีแผนและรับงบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว แบบนี้จะไม่บอกว่าเป็นการเอาสิ่งแวดล้อมบังหน้า สวนทางกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

3. ยกเลิกผังเมือง ปล่อยผีอุตสาหกรรมมลพิษ

ปัญหานี้อยู่ในกลุ่มผลสืบเนื่องจาก คำสั่ง คสช.4/2559  และ 9/2259 ที่ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและ EIA รวมถึง พ.ร.บ.โรงงาน คำสั่งการยกเว้นดังกล่าวจึงเอื้อต่อโรงงานที่ต้องจัดเก็บสารเคมีอันตรายต่าง ๆ ให้ตั้งใกล้เขตชุมชนได้ แล้วเหตุการณ์ร้ายก็มาเกิดขึ้นจริงๆในกรณีไไฟไหม้ ‘โรงงานหมิงตี้’ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนอกจากการเผาไหม้แล้วยังปล่อยมลพิษออกมาด้วย

ความไม่ปกติของโรงงานที่การก่อตั้งแบบมักง่ายยังมีให้เห็นอีกมากจากคำสั่งเหล่านี้ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ที่ส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว และถ้าสืบดีๆ ก็อาจพบว่าการก่อตั้งโรงงานแบบนี้มักมีความสัมพันธ์เป็นครือญาติของบุคลากรระดับสูงของกองทัพ

4. ฆาตกรชายฝั่ง หาดทรายสวยงามทั่วประเทศพังทลาย

รัฐบาลนี้มักอ้างเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและงานวิชาการแบบมั่วๆ จึงสั่งให้มีการสร้างเขื่อนโครงสร้างแข็งตามชายหาดหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งบางแห่งเป็นชายหาดที่ไม่เคยมีการกัดเซาะเลยและยังสวยงามมาก อิฐ หิน ดิน ทราย ปูน มันคงหอมหวานกว่าจนหน้ามืด ไม่ต้องสนใจว่าได้ทำลายชายหาดสวยงามอันเป็นต้นทุนทรัพยากรอันทรงคุณค่าไปมากแค่ไหน

และที่สำคัญคือเมื่อทำไปแล้ว ข้อมูลวิชาการมากมายครับบ่งชี้ว่า เขื่อนโครงสร้างแข็งแบบนี้ส่งผลกระทบทำให้การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น โครงการแบบนี้จึงกลายเป็นความขัดแย้งและสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนในหลายพื้นที่

ถ้ามีการรวมตัวกันเข้มแข็งก็อาจค้านได้สำเร็จ เช่น กรณีหาดม่วงงาม แต่โครงการแบบนี้ ขอบอกว่าพื้นที่ไหน เผลอเมื่อไหร่มันก็เกิดขึ้นทันที จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเศร้าจริงๆ สำหรับทะเลอันสวยงามของประเทศไทยที่ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของเหล่าคนที่ไม่รู้คุณค่า

5. ทวงคืนผืนป่า

คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้เกิดความต่อประชาชนมาถึง 46,600 คดี และมีพี่น้องประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ติดคุก แต่ที่น่าหดหู่พอกันก็คือ เราพบว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนช่วยให้ผืนป่ายังคงอยู่ได้เลย ดังที่เห็นกันได้ชัดๆ ที่เชิงดอยสุเทพ ‘ป่าแหว่ง’ แห่งนั้น คือน้ำตาของชาวล้านนาที่รัฐบาลนี้ฝากฝังรอยจำไว้อย่างเจ็บปวด

ภายหลังคำสั่งนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่ถูกรัฐประกาศเขตอุทยานทับ ถูกยึดพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยจำนวนมาก แต่ในกว่า 4 หมื่นคดี แทบไม่มีมีนายทุนและนักการเมืองถูกดำเนินคดี แม้แต่รีสอร์ทที่พรรครัฐบาลเองเคยไปจัดงานประชุม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าก็เงียบหายไป สุดท้ายมีแต่ประชาชนคนจนและกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเช่นนี้

นโยบายทวงคืนผืนป่ายังสะท้อนความล้าหลังในการจัดการป่าและพื้นที่อนุรักษ์ที่ตกยุคมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ที่สมัยนั้นมีแนวคิดในกันพื้นที่อนุรักษ์ออกมาเป็นอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนออกจากคนอย่างเด็ดขาด

ในขณะที่การอนุรักษ์สมัยใหม่ต่างยอมรับว่า คนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมสัมพันธ์สอดคล้องกับป่า จะสามารถรักษาป่าได้มากกว่าการกันคนออกจากป่า และอีกปัญหาใหญ่ของคำสั่งนี้ คือความสับสนของแผนที่ที่ประกาศพื้นที่ทับซ้อนลงบนพื้นที่ที่เคยมีคนอยู่อาศัยมาก่อนมากมาย

โดยต่างหน่วยงานต่างใช้แผนที่คนละฉบับ จึงขึ้นอยู่กับหน่วยไหนจะบังคับใช้กับใครหรือเมื่อไหร่ จนกลายเป็นการออกโฉนดแบบเอื้อคนรวยพิฆาตคนจน ในขณะที่ทางออกพื้นฐานคือการจัดทำ One Map เพื่อใช้อ้างอิงร่วมกันและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการจัดการปัญหาที่ดินของประชาชนนั้น 8 ปีแล้วก็ยังคงไม่เกิดขึ้นจริง

6. MR Map แผนผลาญ 20 ปี 5.7 ล้านล้านบาท

หากลองนึกภาพ เมื่อเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกรุงเทพไปอีสานของเราในอนาคตนั้น จะมีทั้งมอร์เตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เส้นทางถนนเดิม ยังไม่นับว่ามีเส้นทางเครื่องบินในอีกหลายจังหวัดใหญ่ ดูทันสมัยทีเดียว แต่ในทางปฏิบัติ เชื่อเถอะว่าไม่เป็นไปตามนั้นแน่นอน

แม้ว่าการเติบโตในภาคอีสานและเส้นทางเชื่อมต่อทางการค้าจะสำคัญ ไม่ว่าไปประเทศเพื่อนบ้านหรือตลาดใหญ่อย่างประเทศจีนก็ตาม แต่การลงทุนแบบเมกกะโปรเจ็คพร้อมกันที่เรียกว่า MR - Map ในเวลา 20 ปี วงเงินประมาณ 5.7 ล้านล้านบาท อาจไม่ใช่การคิดทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและการคมนาคมที่เหมาะสม

เพราะต่อให้ดำเนินการเสร็จ การลงทุนเหล่านี้ก็อาจไม่คุ้มทุน เนื่องจากเป็นการลงทุนก้อนใหญ่มากเพื่อมาตัดจำนวนผู้ใช้กันเองในเส้นทางเดียวกัน ซึ่งในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลเราสนับสนุนให้เลือกลงทุนในส่วนที่คุ้มค่าก่อนเช่น รถไฟทางคู่ เป็นหลัก ส่วนโครงการอื่นอาจยังไม่จำเป็น เพื่อสามารถนำงบประมาณที่เหลืออีกมากมายไปลงทุนในขนส่งสาธารณะและการสร้างหัวเมืองให้เกิดขึ้นจะคุ้มค่ากว่า

นอกจากนี้ เส้นทางที่วางกันในกระดาษจะต้องเจออุปสรรคมากมายจนเป็นจริงไม่ได้ เพราะแผนนี้อ้างอิงผลศึกษาเก่า หลายๆ โครงการมาปัดฝุ่นใช้ ถึงปัจจุบันบริบทพื้นที่เปลี่ยนไปหมดแล้ว หรือยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้โครงการไม่สามารถเสร็จลุล่วงได้จริงแม้แต่เส้นทางเดียว

ซึ่งแผนนี้มีมานานตั้งแต่ยึดอำนาจใหม่ๆ เส้นทางนั้นบอกว่าจะเสร็จปีนี้ เส้นทางนี้บอกเสร็จปีนั้น แต่พอไปดูของจริงกลับพบว่าเสร็จเป็นท่อนๆ และผู้รับเหมาทิ้งงานไปแล้วก็มี นี่จึงเป็นการลงทุนครั้งใหญ่แต่จะไม่ได้อะไรกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หรือเป็นเมกกะค่าโง่ของรัฐบาลไทยอย่างแน่นอน

ถ้าใครหากนึกภาพไม่ออกว่า โครงการนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร หรือหน้าตาในอนาคตจะเป็นแบบไหน ขอให้ไปดูสภาพของถนน 7 ชั่วโคตร อย่างถนนพระราม 2 รอบบริเวณเละเทะแถมยังไม่ปลอดภัยและมีแนวโน้มจะสร้างไม่เสร็จไปตลอดกาล จะมีแต่การของบประมาณทำไป ซ่อมไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นกระเป๋าเงินของนักการเมืองและข้าราชการไว้ผลัดกันมาสะสมทุนเมื่อมีอำนาจ นี่คืออนาคตที่ตนขอทำนายไว้กับโครงการนี้

7. ตีตกกฎหมาย PRTR

ตนได้ยกกรณีตัวอย่างโรงงานหมิงตี้ระเบิดไปแล้ว แต่อยากบอกว่าปัญหาคล้ายกันนี้ยังมีอีกมาก ฝุ่นพิษ P.M.2.5 นั่นก็ใช่ หรือการที่หลายปีที่ผ่านมานี้ เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล โรงงานปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำชุมชน หรือน้ำมันรั่ว นั่นเป็นเพราะปัญหาของรัฐบาลนี้ไม่ใช่เพียงแค่การปลดล็อกให้มาตรการกำกับดูแลอ่อนลงเท่านั้น แต่ยังไม่มีมาตรการป้องกันด้วย ครั้นเมื่อมีข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อนำไปสู่การป้องกันชีวิตทรัพย์สินของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ นี่แหละที่เป็นตัวปัญหาใหญ่ที่คอยสกัดไม่ให้กฎหมายที่มีประโยชน์เหล่านี้เกิดขึ้น

มีกฎหมายหลายฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอต่อสภา แต่ส่วนหนึ่งจะถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องยกให้เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่า จะนำเข้าสู่สภาหรือไม่ ปรากฏว่า กฎหมายที่นำเสนอโดยพรรคก้าวไกลทุกฉบับที่ไปถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ เขาจะใช้อำนาจในฐานะนายกฯ ปัดตกทั้งหมด

หนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายที่หลายประเทศทั่วโลกใช้และเรียกย่อ ๆ ว่ากฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers)

หากมีกฎหมาย PRTR จะทำให้แหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ ไม่ว่า โรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ หรือสถานประกอบการใดก็ตาม ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษว่า มีการครอบครองสารมลพิษใดบ้าง และมีการปล่อยมลพิษปริมาณเท่าใด ตามรายชื่อสารมลพิษที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด และต้องเปิดเผยรายงานให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงและร่วมตรวจสอบได้

ดังนั้น หากมีกฎหมายแบบนี้ ประชาชนหรือชุมชนจะรู้ทันทีว่า รอบตัวของตนเองมีสารมลพิษอะไรอยู่รอบๆและมีการปล่อยมลพิษอะไรสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง รวมถึงมีผลกระทบอย่างไร หากตรวจสอบได้ชุมชนก็จะสบายใจว่าอุตสาหกรรมทำถูกต้อง มีทั้งความปลอดภัยและไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนจะสามารถเลือกที่อยู่อาศัยโดยรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารมลพิษรอบตัวได้ด้วย การปัดตกกฎหมายนี้ไป จึงเท่ากับการตัดความก้าวหน้าในการดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของประชาชน

8. กฎหมายสิ่งแวดล้อมถูกดองเค็มในสภา

เป็นที่รู้กันครับว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. เป็นสำคัญ จึงมีเนื้อหาที่พยายามทำลายความเข้มแข็งของรัฐสภา ทำให้สภากลายเป็นสภากล้วยที่ล่มง่าย จนทำให้กฎหมายที่สำคัญหลายฉบับโดยเฉพาะกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้านต้องค้างในสภาไม่สามารถผ่านได้ทัน อีกทั้งยังต้องเจอกับการแทรกกฎหมายด่วนของรัฐบาลที่ มักถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาก่อนมาโดยตลอด

ตนเองได้เสนอ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เข้าไป ซึ่งสภาบรรจุในวาระการประชุมมานับปีแล้ว แต่ถึงวันนี้ก็ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในสภาเสียที นี่จึงเป็นอีกปัญหาที่เกิดจากการมีอำนาจของรัฐบาลนี้

ตนคิดว่า 8 ปี เป็นเวลานานพอที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะรู้ตัวเองได้แล้ว แต่ถ้ายังมองไม่เห็นก็ขอให้ใช้กระจกที่พี่เจี๊ยบ อมรัตน์ มอบให้ส่องดูบ่อยๆ จะได้เห็นตัวเองว่าไร้ความสามารถ และไร้วิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศมากแค่ไหน

8 ปี มานี้ ความเข้มแข็งในทุกด้านของประเทศได้ถูกคนกลุ่มนี้ที่ทำตัวเหมือนปลวก คอยแทะทำลายอย่างตะกละตะกลามจนผุกร่อนไปมาก โครงสร้างที่เคยแข็งแรงจึงง่อนแง่นเต็มที มีแต่รังจอมปลวกที่ใหญ่ขึ้น ปลวกพวกนี้ หากไม่รีบกำจัดทำลายให้ถึงรากถึงโคนแล้วซ่อมโครงสร้างใหม่ เห็นทีบ้านหลังนี้คงจะพังครืนลงมาในสักวัน

ตนคิดว่าในสายตาประชาชน คงไม่อยากรอให้ใครต้องมาตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีหรือไม่ แต่ควรรู้ตัวเองว่า ทั้งมาจากที่มาอันเลวร้าย ส่วนผลงานก็เลวร้ายไม่ต่างจากที่มา จึงอยากให้ท่านจงรีบรู้ตัวแล้วลาออกไปตั้งแต่นาทีนี้ เพราะพวกท่านปล่อยให้ประชาชนรอความหวังนี้มานานเกินไปแล้ว

แล้วทั้งหมดนี้ก็คือ นโยบาย 8 ข้อด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับมุมมอง 8 ข้อเช่นกัน ของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านที่เห็นว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารประเทศของบิ๊กตู่ ถือว่าเป็นการพังทลายของสิ่งแวดล้อม

ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ว่า หากสมมติคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ส่งผลบวกกับ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ จะมีการวิเคราะห์สรุปบทเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การบูรณาการ หรือสถานการณ์ของประเทศไทยหลังจากนี้ ก็ยังคงไม่แตกต่างจาก 8 ปีก่อนหน้านี้ ?

ที่มา

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี 25 ก.ค. 2562

Nitipon Piwmow - นิติพล ผิวเหมาะ

related