อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เปิด 9 ขั้นตอน อธิบายการทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ปมนายกฯ 8 ปี
นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thanakrit Vorathanatchakul โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการวินิจฉัยประเด็น "นายกฯ 8 ปี" ดังนี้
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องของ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยื่นต่อ "นายชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 กันยายน 2565 นี้นั้น
มีข้อกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าว ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 และระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการบริหารจัดการคดี พ.ศ. 2563 โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจโดยสังเขปดังนี้
1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องร่วมพิจารณาคดีและร่วมทําคําวินิจฉัย เว้นแต่มีเหตุถูกคัดค้านหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือหากตุลาการคนใดไม่ได้ร่วมในการพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีย่อมไม่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยคดีนั้น
2. องค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดีและในการทําคําวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่า 7 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• การเมืองไทยหลัง 30 กันยายน เมื่อศาลฯ วินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯ
• รศ.เจษฎ์ วิเคราะห์ปม 8 ปี ถ้าบิ๊กตู่หลุดเก้าอี้ บิ๊กป้อม เป็นนายกฯ ปัญหาไม่จบ
• ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตา “บิ๊กตู่” ปมนายกฯ 8 ปี 30 ก.ย.นี้ 15.00 น.
3. การทำคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ศาลปรึกษาหารือกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ
4. ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกําหนดไว้ไม่ได้ เว้นแต่ตุลาการผู้นั้นจะไม่ได้ร่วมในการพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดี
5. คําวินิจฉัยของศาลอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้ออ้างและคําขอตามที่ปรากฏในคําร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ข้อโต้แย้งในคําชี้แจงข้อกล่าวหา ประเด็นแห่งคดี สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในแต่ละประเด็น และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง รวมทั้งผลแห่งคําวินิจฉัย
6. ในการวินิจฉัยคดี จะเริ่มต้นจากการที่ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนทําความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้นที่ประชุมจะปรึกษาหารือร่วมกัน แล้วจึงมีการลงมติในการวินิจฉัยคดี และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง
7. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลในวันที่อ่าน
8. ความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำโดยสังเขปและต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยเผยแพร่ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย
9. สำหรับคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคําวินิจฉัย
ที่มา : Thanakrit Vorathanatchakul