“หมอธีระ” เปิดงานวิจัยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน พบว่า BA.2.75.2 ดื้อกว่า โอไมครอน สายพันธุ์อื่นๆ หลบภูมิคุ้มกันได้ดีแม่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ มาก่อนแล้วก็ตาม มีโอกาสระบาดระลอกถัดไปในอนาคต หากไม่ป้องกันให้ดี
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดโควิดเพิ่ม 325,828 คน ตายเพิ่ม 654 คน รวมแล้วติดไป 616,841,286 คน เสียชีวิตรวม 6,529,854 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิดสูงสุด คือ
1.ญี่ปุ่น
2.รัสเซีย
3.เกาหลีใต้
4.ไต้หวัน
5.ฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.27 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 85.01
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อัพเดตเรื่อง Omicron BA.2.75.2
Cao YR และคณะ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ได้รายงานผลการวิเคราะห์สมรรถนะของ Omicron BA.2.75.2 เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ
พบว่า BA.2.75.2 ดื้อกว่า Omicron สายพันธุ์อื่นๆ อย่างมาก ทั้งในคนที่ฉีด Coronavac 3 เข็ม รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ มาก่อนก็ตาม
นอกจากนี้ เมื่อดูสมรรถนะในการจับกับตัวรับ ACE2 ของเซลล์ จะพบว่า BA.2.75.2 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ของ Omicron ที่ตรวจพบในปัจจุบันนั้นมีสมรรถนะจับกับตัวรับ ACE2 ได้มากกว่าสายพันธุ์ D614G (ที่เคยเป็นตัวทำให้เกิดระบาดระลอกสองทั่วโลกตอนปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564)
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า BA.2.75.2 นั้นมีทั้งสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และจับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ได้มาก จึงมีโอกาสที่จะนำไปสู่การระบาดระลอกถัดไปในอนาคตได้ หากไม่ป้องกันให้ดี
Long COVID ในบราซิล
Ceron ABC และคณะจากบราซิล ทำการศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเกิดปัญหา Long COVID โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงตั้งแต่กันยายน 2563 ถึงเมษายน 2564 จำนวน 814 คน และคนที่ไม่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 402 คน
พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน จะมีอัตราการเกิดปัญหา Long COVID ราว 29.6%
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ป่วย Long COVID พบว่ามีถึง 55.9% ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะลดความเสี่ยงลงไปได้มาก