ลุ้นพรุ่งนี้ กสทช. ลงมติดีลควบรวมกิจการ "ทรู-ดีแทค" ได้ไปต่อหรือไม่ มีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งประธาน ตีความอำนาจ กสทช. ตามคำสั่ง พล.อ.ประวิตร
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยหลังจากประชุมร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่ได้เรียกให้ กสทช. ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงโดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ว่า
กรณีที่ กสทช. ได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความอำนาจในประเด็นการขอรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
ประเด็นที่ชี้แจงเป็นตามข้อคำถามของบอร์ด กสทช. ที่ได้มอบหมายมา และเป็นไปตามหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความ
กสทช. จำเป็นต้องหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ
ประกอบกับการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และดีแทคเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมของประเทศ และการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินการทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการรวมธุรกิจให้เป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย และสอดรับกับระยะเวลาเร่งรัดที่ กสทช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร
ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องข้อ 12 ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมข้อ 9 กำหนดว่า "การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549"
และโดยที่ข้อ 12 ของประกาศฉบับเดียวกันกำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ หากรายงานการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจากที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 9 ประกอบกับข้อ 12 ดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าเป็นการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ กสทช. ตามมาตรา 27 (11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเดิม และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้เลขาธิการ กสทช. หรือไม่และจะมีผลประการใด และจะเป็นการกระทบต่อหลักการป้องกันมีให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายและประกาศเกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร
"ผมค่อนข้างเชื่อว่าการรายงานต่อกฤษฎีกาครั้งนี้น่าจะครบถ้วนและครอบคลุมตามคำถามของบอร์ด กสทช. ที่ต้องการอยากจะให้ท่านกฤษฎีกาทุกท่านช่วยชี้แนะในประเด็นกฎหมายแล้ว ดังนั้น เข้าไปชี้แจงครั้งเดียวก็น่าจะได้คำตอบว่าท่านจะคิดเห็นอย่างไร"
สำหรับในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.) การประชุมบอร์ด กสทช. จะมีวาระค้างให้บอร์ด กสทช. พิจารณาประเด็นการรวมธุรกิจดังกล่าว เพราะในส่วนที่ผมรับผิดชอบที่เป็นของสำนักงาน กสทช. ได้ทำการบ้านตามที่บอร์ด กสทช. สั่งครบแล้ว ตามที่ให้ไป
• วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของรวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (Economies of Scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน
• วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร
• วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
• วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค
"ผมไม่อาจก้าวล่วงได้ว่าบอร์ด กสทช. ทุกคนจะลงมติในวันพรุ่งนี้เลยหรือไม่ เพราะทุกอย่างถือเป็นดุลยพินิจของแต่ละท่าน และส่วนคำถามที่ว่าคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาจะมีผลผูกพันกับมติบอร์ดหรือไม่ เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมเช่นกันว่าจะคิดเช่นไร แต่ถึงตอนนี้ถือว่าทุกอย่างครบแล้ว รอเพียงการลงมติเท่านั้น"
สำหรับคณะกรรมการกฤษฏีกาคณะที่ 1 ประกอบด้วย
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ
นายอารีย์ วงศ์อารยะ กรรมการ
นายอาษา เมฆสวรรค์ กรรมการ
นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ กรรมการ
นายปรีชา วัชราภัย กรรมการ
นายประสพสุข บุญเดช กรรมการ
นายดิสทัต โหตระกิตย์ กรรมการ
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการ
หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ กรรมการ
ลำดับเหตุการณ์
สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือที่ สทช 2402/38842 ลงวันที่ 25 ส.ค. 65 เพื่อขอให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค
อย่างไรก็ดี คราวนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือปฏิเสธการให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวมาแล้ว เพราะถือเป็นอำนาจของ กสทช. ตามบทบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งยังเป็นกรณีที่กฤษฎีกาไม่อาจก้าวล่วงได้เนื่องจากประเด็นที่หารือ ยังเป็นคดีความอยู่ในชั้นศาล
ล่าสุด หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่รักษาการแทน และอาศัยอำนาจ สั่งการให้ สำนักงานเลธิการนายกฯ ทำหนังสือที่ นร 0403 (กน)/12008 ลงวันที่ 5 ก.ย. 65 แจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ว่า พล.อ.ประวิตร "เห็นชอบ" ตามที่สำนักงาน กสทช. ร้องขอ และได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับทราบแล้ว
ทั้งที่ตอน ประยุทธ์ เป็นนายกฯ กฤษฏีกาขณะนั้น ได้ทำหนังสือ ตอบทำเนียบฯ ปฏิเสธ วินิจฉัยประเด็นอำนาจ กสทช. มาแล้วครั้งหนึ่ง
คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ได้นัดประชุมเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 13 ก.ย. 65 นี้ โดยขอให้ กสทช. ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย เป็น นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.
น่าสนใจกว่านั้น คือการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฏีกา คณะที่ 1 วินิจฉัย เปิดชื่อหัวโต๊ะคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้ที่เคยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานในคณะกรรมการกฤษฏีกาชุดพิเศษ ตีความ ปม 8 ปีนายก ว่าให้นับตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เท่านั้น
โดยประเด็นที่ต้องจับตามองคือวันนี้ (13 ก.ย.) นายมีชัย จะทำหน้าที่ตีความอำนาจ กสทช. ตามบัญชา พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกฯ หรือไม่