ครม. เห็นชอบแผนการกู้เงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารภาระค่า Ft ขณะมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและลดราคาก๊าซหุงต้ม พิจารณาในสัปดาห์หน้า
ความคืบหน้ามาตรการการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติช่วยผู้มีรายได้น้อย หลัง ค่า Ft และ ราคาขายปลีกก๊าซ ปรับขึ้น และมาตรการช่วยเหลือเดิมสิ้นสุดกันยายนนี้
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท
โดยให้ กฟผ.สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องและสภาวะตลาดเงินในขณะนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาระหนี้ โอกาสนี้ คณะรัฐมนตรียังรับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/ 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ทราบแล้วเปลี่ยน วิธีประหยัดเพื่อตัวเอง ค่าไฟลด เงินเหลือเพิ่ม ผ่าน "4 ป. 3 ช."
• กระทรวงพลังงาน จ่อชงมาตรการช่วยค่าไฟ - ค่าแก๊ส เข้า ครม. 13 ก.ย.นี้
• สุพัฒนพงษ์ เผย เตรียมเสนอ ครม. ของบกลาง 8 พันล้าน ลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน
ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาพลังงานปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ กฟผ. ยังคงต้องรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงงวดตั้งแต่เดือนกันยายน- ธันวาคม 65 (งวดปัจจุบัน) จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ผลักภาระเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐได้มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น
อีกทั้งชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่งวดเดือนกันยายน- ธันวาคม 64 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม- สิงหาคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท (ค่าประมาณการ ณ มีนาคม 2565) ที่จะเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้เลื่อนออกไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. ว่า จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท
จึงมีความจำเป็นกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมจะปีงบประมาณ 2566 เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 84,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม(Call Loan) ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของภาครัฐ
ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ซึ่งจะช่วยรับภาระค่า Ftที่เพิ่มขึ้นชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้น มาเรียกเก็บกับประชาชนระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และ 29 มีนาคม 2565 ด้วย
ขณะที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนากยกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการกู้เงินวงเงิน 85,000 ล้านบาท เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ค่า Ft ประจำปีงบประมาณ 2566 ส่วนมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานสำหรับประชาชน ในเรื่อง ค่าไฟฟ้า และ ก๊าซหุงต้ม หรือ LPG กระทรวงพลังงาน จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยจะสามารถออกมาตรการช่วยเหลือได้ทันในรอบบิลเดือนนี้
สำหรับมาตรการที่ กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานแก่ประชาชน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กรณี "ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า" และ "ลดราคาก๊าซหุงต้ม" มีรายละเอียดดังนี้
ค่าไฟฟ้า
1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม 65 ประกอบด้วย
• ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 65 จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
• ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน – ธันวาคม 65 จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย
2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301 – 500 หน่วย/เดือน
ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน – ธันวาคม 65 แบบขั้นบันได 15 – 75%
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือทั้ง 2 กลุ่ม เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 89% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย
นอกจากนี้ จะดำเนินการให้ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือด้วย
ค่าก๊าซหุงต้ม
ขยายเวลาให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจาก 45 บาท/คน/ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาท/คน/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/ 3 เดือน เดิมมีกำหนดสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 กันยายนนี้ ให้ต่อไปอีก 3 เดือน
ทั้งนี้ ในส่วนลดที่เพิ่ม 55 บาท/คน/3 เดือน คาดว่าจะสามารถใช้ได้ช่วงปลายเดือนตุลาคม 65 โดยกระทรวงพลังงานจะแจ้งกำหนดที่แน่นอนเมื่อได้รับงบกลางปี 66 แล้ว ต่อไป