ส่อง 8 แผนงาน Better and Green Thailand 2030 ตั้งเป้าเพิ่มจีดีพี 1.7 ล้านล้านบาท สร้างแรงจูงใจในลงทุนของภาคเอกชน ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ และมีการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ และซาอุดีอาระเบีย
Better and Green Thailand 2030 เป็นโปรเจกต์ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการตั้งทีมปฏิบัติการเชิงรุกทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมี ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าทีม
มีเป้าหมายในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ และมีการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซาอุดีอาระเบีย ในการดำเนินการ ซึ่งมี 8 แผนงานที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
โดยแผนงานนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมาย EV30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564
โดยได้มีการเปิดเผยว่า มีผู้ผลิตที่ทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามมิตแล้ว ได้แก่ Great Wall Motor , MG และ Toyota ส่วน ปตท. กับ Foxconn กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ BYD , Honda , BMW , Mercedes-Benz และกลุ่มรถประเภท Luxury Car
สำหรับแผนงานในระยะต่อไปภายในไตรมาสที่ 3 จะมีการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนสำหรับแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟเพิ่มเติม โดยจะเห็นความชัดเจนของแผนในเร็วๆ นี้
ซึ่งคาดการณ์ว่าแผนงานดังกล่าว คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่ม 3.6 แสนล้านบาท เพิ่มมูลค่าจีดีพีได้ 2.1 แสนล้านบาท สามารถสร้างงาน และเพิ่มทักษะแรงงานในประเทศได้ 6 แสนราย และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ ได้ 13% เทียบเท่าน้ำมันดิบ (BAU)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วราวุธ เชื่อมั่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพา คนไทย สู่ความมั่นคง
กระทรวงพลังงาน เผยราคาน้ำมันไทยอยู่ระดับปานกลาง เข้มงวดการลักลอบขนน้ำมัน
2. จูงใจชาวต่างชาติศักยภาพสูงเข้ามาอาศัยในไทย ด้วยมาตรการวีซ่าสำหรับผู้อยู่อาศัยระยะยาว (LTR)
โดยแผนงานนี้ตั้งเป้าไว้ว่า จะดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและรายได้สูงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านรายขึ้นไป เพื่อเพิ่มมูลค่าจีดีพีให้ได้ 1 ล้านล้านบาท และมูลค่าการลงทุนที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 5 – 6 แสนล้านบาท
ซึ่งมาตการนี้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 ต่อมาในดือน พ.ค. 2565 ได้มีการอนุมัติหลักเกณฑ์ LTR และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการ LTR
ส่วนขั้นตอนการทำงานในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมระบบการทำงาน และการเปิดให้เอกชนมาร่วมให้บริการ และจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลครบวงจร
3. การพัฒนาดิจิทัล (Hyperscalers Data Center & Cloud Service)
คาดว่าในส่วนนี้จะสามารถเพิ่มการลงทุนได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยในเดือน มิ.ย. 2565 ครม.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Data Center ในประเทศไทย
ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะมีการลงทุนของศูนย์ข้อมูล (Data Center) ขนาดใหญ่ที่อาศัยพลังการประมวลผลอย่างมหาศาล (Hyperscalers) ในเมืองไทยของนักลงทุนต่างประเทศ จำนวน 2 ราย
4.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
มีการดำเนินการผลักดันแผนงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเมื่อกลางปีที่แล้ว ความคืบหน้าที่น่าสนใจก็คือ Arcelik Hitachi ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มายังประเทศไทย ในวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ปตท.กับบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในระยะต่อไปจะมีการทำแผนและเสนอมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำในประเทศไทย
ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มในแผนงานดังกล่าว 6.7 แสนล้านบาท ช่วยเพิ่มการจ้างงานในระดับปริญญาโท/เอก 10,400 ตำแหน่ง และเพิ่มจีดีพีได้กว่า 5 แสนล้านบาท
5.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power)
การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศประมาณ 5 พันล้านบาท เพิ่มมูลค่าจีดีพี 3 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มการจ้างงานใหม่ในสายงานครีเอทีฟและดิจิทัลได้กว่า 1.5 หมื่นตำแหน่ง
6.ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น
เป็นแผนนงานการร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของญี่ปุ่น (METI) คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนร่วมกันประมาณ 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 5 โครงการความร่วมมือ ดังนี้
- โครงการการพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
- โครงการพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS)
- โครงการพัฒนารถยนต์ EV แบบที่ใช้แบตเตอรี่ให้ได้ 2.4 แสนคันต่อปี และแบตเตอรี่ขนาด 14 – 15 กิกะวัตต์
- โครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- โครงการพลังงานหมุนเวียน
7.ความร่วมมือกับประเทศซาอุดีอาระเบีย
คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนร่วมกันประมาณ 3 – 6 แสนล้านบาท โดยหลังจากที่ได้มีการหารือกับรัฐบาลซาอุฯ ในหลายระดับ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแผน 7 โครงการเชิงกลยุทธ์ และในเดือน พ.ค.ได้ร่วมเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
โดยความคืบหน้าคือ ได้เริ่มมีการประชุมหารือเพื่อสร้างความร่วมมมือทางเศรษฐกิจในด้านพลังงาน ปิโตรเคมี เชื้อเพลิงชีวภาพ การเกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการบริการ
ส่วนความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนขั้นตอนการทำงานในด้านต่างๆ เช่น การสร้างความร่วมมือด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV และการพัฒนาอุตสาหกรรมเกม และเมตาเวิร์ส (metaverse) ร่วมกัน
8.ความร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์
ในเบื้องต้นได้มีการหารือกับการพัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์ในด้านพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกัน
และทั้งหมดนี้ก็คือ 8 แผนงาน Better and Green Thailand 2030 ที่ต้องการให้ตอบโจทย์ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามทิศทางของโลก ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าแผนงานทั้ง 8 ดังกล่าวนี้ จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้มากน้อยเพียงใด
ที่มา
เปิดแผน ‘Better and Green Thailand 2030’ อัพ GDP 1.7 ล้านล้าน ดึงลงทุน 2 ล้านล้าน
‘ชโยทิต’ ดัน‘Better & Green Thailand’ อัพGDP 1.7 ล้านล้าน ดึงลงทุน 2 ล้านล้าน