นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ชี้แจงความคืบหน้าโรคฝีดาษลิง ผลจากการเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหนุ่มไนจีเรียจำนวน 19 ราย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจเป็นลบแล้วทั้ง 19 ราย
นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทย ที่จังหวัดภูเก็ตว่า
ผลจากการเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High-Low risk contact) จำนวน 19 ราย ไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจออกมาแล้วเป็นลบแล้วทั้ง 19 ราย
อย่างไรก็ตามได้มีการติดตามอาการ อย่างใกล้ชิดโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะโทรศัพท์สอบถามอาการทุก 7 วัน 14 วันและ 21 วัน และในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเมื่อครบการกักตัว 21 วันแล้วจะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ อีกครั้งหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ชัชชาติ สั่งเฝ้าระวังฝีดาษลิงใน กทม. ขอคนกรุงอย่าตื่นตระหนก
• อนุทิน สั่งด่านควบคุมโรคเฝ้าระวังฝีดาษลิง จากคนประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าไทย
• สธ. ถกด่วนรับมือ “ฝีดาษลิง” หลัง WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสธ.ระหว่างประเทศ
ขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษลิงติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษวานร ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันฝีดาษวานรทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ระวังสัตว์กัดหรือข่วน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง
โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแนวทางเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง หลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เป็นระดับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับข้อมูลวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบพบว่ายังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้
ส่วนด้านการรักษาพยาบาล โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ จึงใช้การรักษาตามอาการ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การดูแลได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องความดันลบ และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค
การป้องกันและการดูแลรักษา ได้มีการสั่งการให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้เพิ่มความระมัดระวังบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ และโรงพยาบาล คลินิกเอกชนเฝ้าระวัง ผู้ที่มีไข้ผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างเข้มข้น