เปิดอนาคต อุตสาหกรรม “ปิโตรเคมี-พลาสติก-ตลาดน้ำมัน” หลังโควิด-19 คนหันไปรักษ์โลก พลาสติกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่คนรักษ์ได้อย่างไร ?
ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ยังไม่มีบทสรุปหรือทางออกที่ชัดเจน ทำให้อุปทานน้ำมันอาจมีความเสี่ยง ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่สวนทางกันจากการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันโลกยังคงราคาสูงต่อไป
ดังนั้นการติดตามสถานการณ์โลก และการปรับตัวของการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและปิโตรเคมี จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ทำให้กลุ่ม ปตท. จัดงานสัมมนาออนไลน์ 2022 PTT Group The Petrochemical Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ “Moving forward in the Post-COVID era” ซึ่งเป็นงานสัมมนาประจำปีของกลุ่ม PRISM Petrochemical Market Outlook โดยปีนี้ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 และเป็นปีแรกที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้าร่วมการสัมมนานี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของธุรกิจปิโตรเคมีหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยมุมมองจากนักวิเคราะห์ PRISM กลุ่ม ปตท. และ วิทยากรรับเชิญ
วิกฤตเศรษฐกิจจะอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เศรษฐกิจหลังจากนี้จะผันผวนและคาดเดาได้ยาก ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งของยูเครน-รัสเซีย จึงทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงอยู่และจะสูงไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นเศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้ และปีหน้า มีแนวโน้มจะชะลอลงจากที่เคยประเมินไว้เมื่อตอนต้นปี
ด้านนโยบายของธนาคารกลางที่จะออกมาควบคุมเงินเฟ้ออย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าปกติ เพราะสหรัฐฯเองก็มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเริ่มเผชิญความเสี่ยงกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อยังสูง หรือ Stagflation มากขึ้น และในกรณีเลวร้ายนั้น เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป ก็มีความเสี่ยงที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปี 2023 หรือ ต้นปี 2024
โลกจะเริ่มลดการใช้น้ำมัน แต่พลาสติกยังมีความต้องการอยู่
แม้ว่าโลกจะเริ่มชะลอตัวแต่เรายังคงต้องตื่นไปทำงานทุกวัน การใช้งานวัสดุที่มาจากการผลิตน้ำมันก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แม้ว่าโลกจะเริ่มหันมาลดการใช้มัน
นายเดชาธร ฐิสิฐสกร Marketing Strategy and Data Science บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ระบุว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วทั้งโลกกำลังจะก้าวไปพร้อมกันคือการลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น การขับเคลื่อนนโยบายใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และลดการใช้รถยนต์สันดาป จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถึงแม้ทั่วโลกจะเริ่มแบนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตน้ำมันก็ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ เช่น ยางพลาสติกในแขนกล เป็นต้น
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา ทั้งบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ยารักษาโรค และงานก่อสร้าง ในปี 2564 ไทยมีความต้องการใช้พลาสติก อยู่ที่ 4.968 ล้านตัน โดยความต้องการพลาสติกในอีก 7 ปีข้างหน้าก็ยังมีความต้องการสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
นายธีรัช ศฤงคารินทร์ Marketing Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ นางสาวนิรมล วุฒิพฤกษ์ Manager, Business Planning and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด กล่าวถึงผลกระทบต่อ Polyethylene/Polypropylene ว่า หลังเข้าสู่ยุค New Normal โลกกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอีกครั้ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต Polyethylene/Polypropylene และ Brand Owner ต่างก็ต้องปรับตัว ความต้องการสูงขึ้น แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี หลังจากนี้ ต้องหันมาดูในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
การใส่ใจสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล, การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เพราะพลาสติกสูงถึง 41% ในประเทศถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับหากผู้ใช้พลาสติกรู้จักวิธีจัดการให้เหมาะสม และยังสามารถมีส่วนร่วมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพียงแค่รู้จัก Reuse นำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ, ช่วยกันแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำไป Recycle/Upcycle ต่อไป
โรงกลั่นในอนาคตจะผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง แต่เพิ่มการผลิตสารเคมีมากขึ้น
นายสิรวิชญ์ สมรัตนกุล นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ระบุว่า โรงกลั่นหลังจากนี้มีแนวโน้มผลิตเชื้อเพลิงน้อยลง และผลิตสัดส่วนสารเคมีเพิ่มมากขึ้น จึงผลักดันให้ตลาดเติบโตมากขึ้น แต่เราก็ยังคงต้องรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย ปัจจุบันเราสามารถผลิตพลาสติกจากธรรมชาติ (Bio-materials) ที่อาจเข้ามาแทนที่การใช้พลาสติกจากน้ำมัน (Fossil-based) ในอนาคตได้ แต่ข้อจำกัดของพลาสติกจากธรรมชาติ คือ ต้นทุน และความสามารถในการผลิตในจำนวนมากที่ยังมีข้อจำกัด
ขณะที่การแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Ban single-used plastic) กลายเป็นปัจจัยลบในตลาดนี้ แต่พลาสติกที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์ ทั้งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงเติบโตอยู่ จึงเชื่อว่าจะเข้ามาทดแทนส่วนที่ถูกแบนไป
ดังนั้นแนวทางการปรับตัว และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพลาสติกหลังสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงนโยบาย และแผนงานด้านความยั่งยืนของทุกภาคส่วน จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคต ทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน องค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น