กรมอนามัยเร่งแจ้งเตือนประชาชน เมนูเปิปพิสดาร "กินชอล์ก" ที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย ย้ำ หากกินเสี่ยงสำไล้อุดตัน เป็นอันตรายถึงชีวิต
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกเตือน “กินชอล์ก” เสี่ยงอันตราย ทำฟันสึกกร่อนหรือฟันผุ ย่อยอาหารลำบาก ท้องผูก และลำไส้อุดตัน ส่วนในกรณีหญิงตั้งครรภ์ หากกินเข้าไปอาจส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ย้ำไม่แนะนำให้ทุกวัยเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีการกินชอล์ก ที่เกิดเป็นกระแสในโซเซียลมีเดียนั้น ถือเป็นพฤติกรรมการกินแบบแปลกประหลาด การกินสิ่งของต่างๆ แทนอาหาร เช่น หิน ดิน แป้งดิบ น้ำแข็ง หรือชอล์ก พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กที่มีอายุระหว่าง 18 เดือน ถึง 2 ปี แต่ถ้าในผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ ทางการแพทย์จะเรียกว่า Pica ซึ่งเป็นภาวะทางจิตเวช ถือเป็นความผิดปกติของการกินชนิดหนึ่ง และยังเชื่อมโยงกับพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ภาวะทุพโภชนาการ ไปจนถึงการตั้งครรภ์อีกด้วย
ถ้าหากพบอาการเช่นนี้ควรไปพบแพทย์ และหากใครพบเห็นพฤติกรรมการกินชอล์กดังกล่าว ไม่ควรลอกเลียนแบบหรือทำตาม เพราะถึงแม้ว่าชอล์กสีขาวจะมีพิษเพียงเล็กน้อย แต่ถ้ากินในปริมาณที่มากเกินไป หรือสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น ฟันสึกกร่อนหรือฟันผุ การย่อยอาหารลำบาก ท้องผูกหรือมีสิ่งกีดขวางในลำไส้ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน การติดเชื้อปรสิต เบื่ออาหาร
และหากเป็นชอล์กสี ซึ่งใช้สารเคมีสีที่ไม่ใช่สีที่ใช้ผสมอาหาร อาจก่อให้เกิดอันตรายจากโลหะหนักต่างๆ ได้ เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู โครเมียม สังกะสี การได้รับโลหะหนักเข้าไปในร่างกายมาก ๆ หรือเป็นประจำจะเกิดการสะสมพิษในร่างกาย อาจทำให้เกิดอันตรายทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังได้ สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร การกินชอล์กอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกได้อีกด้วย
“ทั้งนี้ ร่างกายคนเราต้องการอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างพลังงาน ดังนั้น ในแต่ละวันมีเมนูอาหารหลากหลายประเภทที่จำเป็นมากกว่าการเมนูเปิบพิสดารสิ่งของต่างๆ หรือสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ทางกรมอนามัยจึงยังคงเน้นย้ำให้ทุกวัยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และกินให้มีความหลากหลาย
เพื่อให้ร่างกาย ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ โดยเน้นการกินผักผลไม้ รวมถึงเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ ควบคู่กับการดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย ออกกำลังกายเป็นประจำ
และหมั่นชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อการดูแลสุขภาพและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งบางชนิด เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กรมอนามัย / 22 กรกฎาคม 2565