ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แฉ กองทัพอากาศ เคยของบประมาณโครงการป้องกันภัยทางอากาศ (GBAD) และได้รับการอนุมัติจากสภาไปแล้ว แต่มีการแก้ TOR ภายหลัง ผลที่ตามมาก็คือไม่สามารถดำเนินการต่อไปไม่ได้ จนต้องล้มเลิกโครงการดังกล่าวในที่สุด
ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีเครื่องบินรบเมียนมาบินล้ำน่านฟ้าไทยบริเวณชายแดนจังหวัดตาก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นานกว่า 15 นาที แต่กองทัพอากาศไทยกลับไม่ส่งเครื่องบินรบ F-16 ขึ้นสกัดกั้น จนนำมาสู่ข้อสงสัยว่ากองทัพอากาศไทยมีปัญหาเรื่องระบบป้องกันภัยทางอากาศหรือไม่
สภาเคยอนุมัติงบประมาณโครงการป้องกันภัยทางอากาศ (GBAD) แต่มีการแก้ไข TOR จนต้องล้มเลิกโครงการ
โดยยุทธพงศ์ได้ระบุว่า แท้ที่จริงแล้ว สภาเคยอนุมัติงบประมาณโครงการป้องกันภัยทางอากาศ (GBAD) ให้กองทัพอากาศในปี 2564 ไปแล้ว แต่อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) แก้ไขหลักการ Purchase and Development (P&D) แก้ไข TOR ส่อขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ จนต้องยกเลิกโครงการไปในท้ายที่สุด
กองทัพอากาศเคยมีโครงการป้องกันภัยทางอากาศจริง โดยเมื่อปี 2563 พลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น ตั้งโครงการจัดซื้อระบบการป้องกันภัยทางอากาศทั้งระยะใกล้ พร้อมติดตั้งและฝึกอบรม (GBAD) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์มูลค่า 940 ล้านบาท โดยของบประมาณปี 2564 ซึ่งรัฐสภาก็ได้อนุมัติให้งบประมาณตามคำขอ
แต่เมื่อพลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ เกษียณอายุราชการ และพลอากาศเอกแอร์บูล สุทธิวรรณ เข้ามาเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) โดยสาระสำคัญคือการตัดหลักการแนวทาง Purchase and Development (P&D) คือการจัดซื้อจัดซื้อและพัฒนา เพื่อจะได้พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เหลือเพียงการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียว คือ ซื้อมาใช้เฉยๆ ไม่พัฒนาอะไรต่อ พร้อมกับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างจากการประกวดราคา คือมีผู้มาเสนอหลายรายมาใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงหรือวิธีพิเศษ คือเลือกบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
การแก้ไขหลักการและแก้ไข TOR โครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากสภาไปแล้วนั้น เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ และผลจากการเปลี่ยนแปลงแก้ไข TOR ดังกล่าวท้ายสุดก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้ จนกองทัพอากาศต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
ยุทธพงศ์ ชี้ กองทัพอากาศไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ
เมื่อสภาอนุมัติงบประมาณไปให้ และกองทัพอากาศมีเงินอยู่ในมือ แต่กลับไม่สามารถจัดซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศไทยแทนที่จะมีระบบป้องกันภัยทางอากาศสำหรับป้องกันประเทศหากมีกรณีการรุกล้ำดินแดนจะสามารถสกัดกั้นได้ทันที นี่คือความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของกองทัพอากาศ
“ดังนั้น ในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ที่จะมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2566 ของกระทรวงกลาโหมทั้ง 3 เหล่าทัพ ตนจะซักถามผู้บัญชาการทหารอากาศ ว่าวันนี้ประเทศไทยเสียหาย คนไทยเสียเกียรติภูมิ เพราะถูกรุกล้ำอธิปไตยนานถึง 15 นาที ท่านจะตอบว่าอย่างไร” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว
ที่มา FB : พรรคเพื่อไทย