ปลัดสธ. เผยวันที่ 1 ก.ค. นี้ไทยจะพ้นการระบาดโควิด-19 ระลอกใหญ่ แต่จะพบการระบาดเล็กๆ เป็นคลัสเตอร์ย่อย ที่ไม่กระทบต่อระบบสาธารณสุข ขณะที่โอไมครอนสายพันธุ์ BA.4 - BA.5 พบในไทยร้อยละ 50 จากคนที่เดินทางเข้ามา แต่เชื่อว่าจะไม่กลับไปรุนแรงเหมือนระลอกใหญ่ที่ผ่านมา
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ไทยยังคงก้าวเข้าสู่การพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เชื่อว่าหากมีการเจ็บป่วยจากนี้จะไม่พบการระบาดที่เป็นระลอกใหญ่เหมือนในอดีต แต่จะเป็นการระบาดเล็กๆ ที่ไม่กระทบต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากขณะนี้ มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 140 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการรณรงค์ให้มีการรับวัคซีนต่อเนื่องทุกๆ 4 เดือน และจากการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ พบว่า มีคนไทยในต่างประเทศ 16 ล้านคน ตรงนี้จะต้องสำรวจว่าเค้ามีการรับวัคซีนแล้วหรือไม่
ส่วนเรื่องความกังวลโอไมครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้น จากข้อมูลในต่างประเทศ พบว่าในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ พบว่ามีการแพร่เร็วกว่าเดิม 1.3-1.4 เท่า แต่ก็พบในประเทศนอร์เวย์กลับมีอัตราการแพร่น้อยกว่า ดังนั้นปัจจัยของการแพร่เชื้อที่เร็วขึ้น จึงอาจไม่ใช่เรื่องของเชื้อไวรัสที่พัฒนาเพียงอย่างเดียว อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ลือ!!พบโอไมครอน สายพันธุ์ BA4.5 ในไทย สธ.แจง เป็นข้อมูลเท็จ
• ดร.อนันต์ เผย BA.4 -BA.5 อาการผู้ป่วยชัดกว่าโอไมครอนรุ่นแรก
• กรมวิทย์ฯจับตา โควิดโอมิครอน BA.4 และ BA.5 พบแล้ว 181 ราย แพร่เร็วขึ้น 1.5 เท่า
การเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงของโควิด19 มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบมาตั้งแต่เดือนเมษายน แต่เป็นในกลุ่มนักเดินทางชาวต่างชาติ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างสายพันธุ์ตรวจ ก็พบว่า เป็น BA.4 ถึง 40-50% ซึ่งยังต้องมีการติดตามต่อไป อย่างไรก็ตามโควิดไม่ได้หายไปไหนยังอยู่รอบตัว ดังนั้นก็ยังต้องระมัดระวังตัวต่อไป แต่เชื่อว่าจะไม่มีรุนแรงเหมือนในอดีตที่กระทบกับสถานพยาบาล
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีผลให้ระดับภูมิคุ้มกันลดลงในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จึงขอแนะนำให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต
ส่วนในกรณีการฉีดวัคซีนโควิด19 ให้กับกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ทางกรมควบคุมโรค ยังอยู่ในระหว่างการหารือถึงแนวทางการดำเนินการ โดยขั้นตอนหลังจากนี้หากแผนดังกล่าวผ่านการพิจารณา ก็จะมีการยื่นส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. พิจารณาเพื่อการขึ้นทะเบียนวัคซีน โควิด-19 ที่ใช้สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการอย. ระบุว่า ขณะนี้มียังไม่มีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก ทั้งไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา มายื่นของขึ้นทะเบียน เพราะเพิ่งผ่านการอนุมัติจากอย.สหรัฐฯไม่นาน อย่างไรก็ตามสำหรับสูตรการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กนี้ จะต้องมีขนาดแตกต่างกว่าเด็กวัยเรียน ประมาณ 0.3ไมโครกรัมต่อโดส