ศูนย์จีโนมทางการแพทย์เผยข้อมูล โอไมครอน BA.5 กลายพันธุ์จากพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด เพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด เสี่ยงแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ ล่าสุดพบผู้ป่วยในประเทศไทยแล้วหลายราย
หลังจากที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) เปิดเผย สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศว่า มีการค้นพบผู้ป่วยรายวันติดเชื้อโควิดโอไมครอน (โควิดโอมิครอน) สายพันธุ์ย่อย อย่าง โอไมครอน BA.4 และโอไมครอน BA.5
ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โอไมครอน BA.5 โดยระบุว่า
โอไมครอน BA.5 ปัจจุบันพบการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในอนาคตอันใกล้
ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เข้ารักษาตัวใน รพ. ในโปรตุเกสและแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาด้วยอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• สหรัฐฯ พบโควิดโอไมครอนสองสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กว่า 13%
• สรุปให้...รู้จักโควิดโอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ BA.4 , BA.5, BA.2.12.1
• อิสราเอลพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ BA.4 - BA.5 สามราย
โอไมครอน BA.5 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกสมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในเยอรมนีมีผู้ติดเชื้อและเข้ารักษาตัวใน รพ. เพิ่มขึ้นมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยมีการติดเชื้อ BA.5 เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว ที่น่ากังวลคือผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.4/BA.5” สามารถเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อันอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ ซึ่งต่างไปจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2 ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่นที่ปอด
จากฐานข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก “GISAID” ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ไปแล้วจำนวน 23, 26, และ 18 รายตามลำดับ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ามารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มจำนวน คงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป
ที่มา : Center for Medical Genomics