svasdssvasds

สุชัชวีร์ ชี้ ไฟไหม้สำเพ็ง สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนมาตรฐานความปลอดภัย

สุชัชวีร์ ชี้ ไฟไหม้สำเพ็ง สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนมาตรฐานความปลอดภัย

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แสดงความคิดเห็นกรณีไฟไหม้สำเพ็ง สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนมาตรฐานความปลอดภัยของเมือง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “มาตรฐาน คือ ทางแก้ทุกปัญหาของเมือง” จากกรณีไฟไหม้สำเพ็ง ดังต่อไปนี้

“ตกใจมาก หลังดูคลิปไฟไหม้ที่สำเพ็ง ผู้เสียชีวิต 2 บาดเจ็บอีกหลายคน ไฟเผาผลาญอาคารห้องแถววอดวายหลายห้อง ตั้งแต่จำความได้ ไฟไหม้ที่ไหน โทษไฟฟ้าลัดวงจรไว้ก่อน จริงอยู่ว่าไฟฟ้าลัดวงจรเกิดได้ง่ายมากในกรุงเทพฯ  แต่ปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร จนถึงหม้อแปลงระเบิด ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดเพลิงไหม้เสมอไป แสดงว่ากรณีนี้ "มีจุดอ่อน" และเป็น "ปัญหาที่แก้ไขได้" และดูเหมือนว่าเรื่อง "มาตรฐาน" ความปลอดภัย คือ จุดอ่อนของเมือง 

ไฟไหม้สำเพ็ง

บทความหรือข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. "แผงป้องกันไฟ"

สุชัชวีร์ ระบุว่า หม้อแปลงขนาดใหญ่ 500 kVA ติดตั้งอยู่ใกล้อาคารมาก ตาม "มาตรฐาน" หากหม้อแปลงอยู่ใกล้ช่องเปิดหรือหน้าต่างของอาคาร ระยะไม่ถึง 6 เมตร ต้องมีแผงป้องกันไฟ ที่มี "มาตรฐาน" การทดสอบทนไฟ ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นไฟ ป้องกันไม่ให้ไฟลามเข้าอาคาร หากหม้อแปลงระเบิด

2. "สายไฟลงดินและหม้อแปลงใต้ดิน"

อย่าเข้าใจผิด ไฟฟ้าก็ลัดวงจรได้ ไฟไหม้ได้ ระเบิดได้เช่นกัน ลองหาดูคลิปดังจากนิวยอร์กเมืองที่สายไฟฟ้าลงดิน หม้อแปลงใต้ดินระเบิด ไฟลุก น่ากลัวมาก แสดงว่าสายไฟฟ้าและหม้อแปลงจะอยู่ตรงไหน ลอยฟ้า บนพื้นดิน หรือใต้ดิน ก็เกิดอันตรายได้ ถ้าไม่มี "มาตรฐาน"

3. "สายไฟ สายสัญญาณ"

รุงรังไปทุกที่ ไม่เว้นแม้ตรงหม้อแปลง ที่เป็นจุดเสี่ยงที่สุด ตาม "มาตรฐาน" ต้องมีระยะห่างปลอดภัย เพราะสายไฟรุงรังอาจทำให้ ไฟฟ้าลัดวงจร และเมื่อเกิดความร้อนสูง ก็ลามตามสายไฟ เกิดไฟไหม้จุดข้างเคียงได้ จากภาพเหตุการณ์จะเห็นสายไฟหลอมละลาย เกิดไฟหยดติ๋ง ลามไปทุกที่

ไฟไหม้สำเพ็ง

4. "การใช้กระแสไฟฟ้ามากเกิน"

คนไม่กลัวโควิด ใช้ชีวิต ทำงานเป็นปกติ รถติดหนักขึ้น ร้านอาหาร ร้านค้า ได้เปิดเต็มรูปแบบ คนแน่น ต้องเปิดไฟ เปิดแอร์ เปิดเตาไฟฟ้า ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นหลายเท่า ยิ่งสายไฟเก่า เชื่อมต่อกันเอง ไม่ได้มาตรฐานเสี่ยงมาก ที่ผ่านมาเราอาจ คิดไม่ถึงหรือไม่คิดถึง ไม่ได้ตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนเปิดเมือง

5. "อาคาร ตึกแถวเก่า"

สุชชัชวีร์ ระบุว่า อาคารเก่าในแทบทุกพื้นที่ เป็นจุดเสี่ยงไฟไหม้ แต่ที่อันตรายสุด คือไฟไหม้แล้ว ไม่มีทางหนีไฟ คนตาย อาคารไม่ได้มาตรฐาน การป้องกันไฟไหม้และการหนีไฟ ชาวบ้านอยู่ในอาคารมาตลอดชีวิต คงไม่มีความรู้ทางวิชาการในการปรับปรุงความปลอดภัย เรื่องนี้รัฐต้องช่วย ถือเป็นความปลอดภัยสาธารณะ

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทุกหน่วยควรใช้วิกฤตไฟไหม้ เป็นโอกาส สังคายนาตรวจสอบสายไฟ หม้อแปลง อาคารบ้านเรือน ให้มี "มาตรฐาน" อย่าให้เกิดการสูญเสียฟรี และเกิดขึ้นซ้ำซาก เพราะ "มาตรฐาน" คือ หลักเกณฑ์ที่ผ่านการศึกษา การทดสอบ ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ เป็นที่ยอมรับทางสากล และคือ ทางแก้ทุกปัญหาของเมือง

ตนเขียนด้วยความห่วงใยประชาชน ขอบคุณทุกท่านที่ส่งข้อมูล ส่งความรู้ และหากมีข้อสังเกตทางวิชาการเพิ่มเติม ส่งมาเลยนะครับ เพราะเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องของเราทุกคน เราช่วยกันนะครับ สุชชัชวีร์ ระบุทิ้งท้าย

ที่มา : FB : เอ้ สุชัชวีร์

related