การเดินหน้าของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ ยังคงดำเนินต่ออย่างไม่หยุด และล่าสุดได้ไปเยือนชมสตาร์ทอัปของคนไทย ‘Thai Startups’
โดย Thai Startups เป็นสมาคมสตาร์ทอัปของคนไทย ที่ได้ร่วมงานกับหลากหลายองค์กรเช่น Thai Startups x Open Bangkok และรวมถึงผู้ว่าฯชัชชาติด้วยในโครงการ Thai Startups x Chadchart ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมกับกทม. โดย Thai Startups x Chadchart จะทำการดึงนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติ เพื่อมาต่อยอดในแบบของสตาร์ทอัป
ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้พูดถึงความแตกต่างระหว่างการทำร้านกาแฟกับการทำสตาร์ทอัป ได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการ Disrupt หรือการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจเดิม วิธีการเดิมๆ ให้แตกต่างออกไป และยกตัวอย่างแอปพลิเคชั่น TraffyFondue ซึ่งเป็นแอปฯที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ให้หน่วยงานและประชาชนประสานแจ้งปัญหาและแก้ปัญหาถึงกันได้เป็นอย่างดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผู้ว่าชัชชาติฯ ได้พูดถึงแพลตฟอร์ม TraffyFondue ที่เข้ามาลดขั้นตอนในการส่งต่อปัญหาของประชาชน และพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงแรกกว่า 20,000 เคสที่แจ้งเข้ามา จนถึงในปัจจุบันมีกว่า 40,000 เคส ได้ภายใน 10 วัน และได้ถูกแก้ปัญหาไปแล้วกว่า 10% (4,000 เคส) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นได้รวดเร็วแบบนี้มาก่อน
และผู้ว่าชัชชาติฯยังได้แนะนำว่าบริษัทในปัจจุบันควรมีทั้งสตาร์ทอัป (เติบโตแบบก้าวกระโดด) และสเกลอัป (เติบโตตามระบบ) ผสมผสานกัน เพื่อความสมดุล
ผู้ว่าชัชชาติฯ พูดให้กำลังใจ ‘Thai Startups’ ถึงความเชื่อว่าสตาร์ทอัปคนไทยสามารถเปลี่ยนกรุงเทพฯได้ และได้พูดถึงโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ที่จะใช้แอปพลิเคชั่นจากสตาร์ทอัปมาช่วย โดยจะมีจุด GPS มีรูปถ่าย มีชื่อเจ้าของ และสามารถเก็บคะแนนคาร์บอนเครดิตได้ด้วย
การร่วมงานระหว่างสตาร์ทอัปและรัฐบาล
ผู้ว่าชัชชาติฯ ได้ให้คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัปที่อยากร่วมมือกับรัฐบาลไว้ว่า “ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันเพราะมีเงื่อนไข เพราะงบประมาณมีกรอบที่จำกัด ทางสตาร์ทอัปต้องศึกษากฎระเบียบให้ละเอียด และต้องทำแบบ Begin With The End in Mind หรือการเริ่มต้นโดยมีเป้าหมายชัดเจน"
ความท้าทายของการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐคือ “ล้มเหลวไม่ได้” ซึ่งจะขัดกับแนวคิดของสตาร์ทอัปที่รักการทดลอง บวกกับวัฒนธรรมที่ต่างกันในการทำงาน อาจทำให้ต้องเตรียมการมากขึ้น
สิ่งที่สตาร์ทอัปและเทคโนโลยีจะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้
สิ่งที่ผู้ว่าฯชัชชาติคิดว่าต้องควรถูกแก้ไขหรือ Disrupt แน่นอนคือ การศึกษาและสถานรักษาสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันคือ การศึกษาแพงแต่ยังด้อยคุณภาพ และการรักษาพยาบาลแพงแต่ยังไม่เหมาะสมกับคุณภาพเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือคำถามที่ถามถึงผู้ว่าฯชัชชาติในงาน “การแก้ปัญหาแบบเช้าชามเย็นชาม” จะแก้ไขได้อย่างไร ชัชชาติได้พูดถึงการ ใช้ Open Data ที่โปร่งใสโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและคนจะขยันตามไปเอง
การร่วมมือของผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้แสดงถึงความเชื่อมั่นในระบบสตาร์ทอัป แอปพลิเคชั่น ที่จะเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาต่างๆของบ้านเมือง และยังต่อยอดไปสู่การพัฒนาระบบเดิมๆ ให้กลายมาเป็นรูปแบบที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาชีวิตคนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ อากาศ สิ่งแวดล้อม ถนน และอื่นๆอีกมากมาย