รวมพล 6 "ซีอีโอ" ถกปมวิกฤต "พลังงาน - อาหาร" ขาดแคลน ชี้ โอกาสและความเสี่ยงที่ไทยต้องรับมือ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงานถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน ทั่วโลกกำลังจับตามอง
ProPak Asia 2022 (โพรแพ็ค เอเชีย 2022) งานแสดงนวัตกรรมด้านการผลิต แปรรูปและบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เชิญ 6 ผู้บริหารจากบริษัทอาหารชั้นนำ ได้แก่ เอสแอนด์พี , เบทาโกร , ซันสวีท , จีเอฟพีที , อายิโนะโมะโต๊ะ และซีพีแรม ร่วมเวที Idea Theatre ถกประเด็นวิกฤติพลังงานและอาหาร แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมรับผลกระทบ และคว้าโอกาสส่งออกจากปริมาณความต้องการอาหารจากทั่วโลก
ท่ามกลางสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เข้ามาซ้ำเติมหลาย ๆ ประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักจากการระบาดของโควิด-19 ภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ประชาชนมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเกิดจากราคาต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นทั้งวัตถุดิบและพลังงาน ตลอดจนราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุด มีอย่างน้อย 30 ประเทศ ประกาศนโยบายงดส่งออกอาหาร ด้วยความหวาดหวั่นต่อวิกฤตขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้น หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้
ในระยะเวลายาวนานอย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยจะต้องประสบกับสภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็ถือได้ว่ายังมีแต้มต่อในการผลิตอาหาร ด้วยการมีซัพพลายวัตถุดิบที่ไม่ขาดแคลนแม้จะมีราคาที่สูงขึ้นก็ตาม เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการจับตาจากบรรดาผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก
คุณเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แรม จำกัด เปิดเผยว่า "สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยาวนาน โดยสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่าจะมีจำนวนคนอดอยากถึง 440 ล้านคน ใน 2-3 ปีข้างหน้า และที่สำคัญอาหารไม่ฟื้นเร็วเหมือนอย่างอื่น แม้สงครามเลิก แต่ภาคการผลิตอาหารต้องใช้เวลาฟื้นตัว 1-2 ปีหันมามองที่ไทย
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอาหาร 1 แสนโรงงาน ทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก มีสมาชิกในกลุ่มอาหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีสมาชิกกว่า 400 ราย ประกอบกับบริษัทด้านอาหารระดับโลกที่เข้ามาร่วมลงทุน ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารสร้างรายได้ถึง 20% ของ GDP ของไทย และมองว่าไทยสามารถใช้ความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหาร ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างความได้เปรียบในวิกฤตอาหารนี้ได้
คุณจักริน แต้ไพสิฐพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหาร สำนักกิจการเพื่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "สงครามรัสเซียและยูเครน ที่ต่อเนื่องมาค่อนข้างยาวนานแน่นอนว่าส่งผลกระทบทุกอย่าง โดยเฉพาะวงการปศุสัตว์สิ่งแรกที่ กระทบคือวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งที่ผ่านมาข้าวโพดปรับราคาขึ้นมากว่า 30% ข้าวสาลีปรับราคา 20% รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้น จากเดิมต้นทุนค่าขนส่ง 15% ของสินค้าที่ผลิตแต่ปัจจุบันขึ้นเกือบ 40% ทั้งหมด ส่งผลไปถึงเนื้อหมู ไข่ไก่ แพงขึ้น เบทาโกรได้ใช้การวางแผนและการจัดการทั้งปรับสูตรอาหารสัตว์ หาวัตถุดิบทดแทน เพื่อรักษาประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ใหม่ คุณภาพเหมือนเดิม และจัดสรรโลจิสติกส์ให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดเพื่อช่วยพยุงราคาสินค้า"
คุณวิวรรยา ศิริมงคลเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "รัสเซีย ที่มีทั้งแก๊สและน้ำมัน และยูเครน ก็เป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก ย่อมกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลกคำถามคือผู้ประกอบการไทยจะต้องจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้เรื่องของน้ำมัน ไทยคงยากที่จะบริหารจัดการสถานการณ์ให้ดีขึ้นเพราะเราเป็นผู้นำเข้า ขณะที่ต้นทุนอื่น ๆ ยังพอรับมือได้ด้วยการบริหารจัดการ ตอนนี้ทุกบริษัทที่ผลิตอาหารต่างต้องหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาบริหารจัดการมากขึ้นเพื่อให้ต้นทุนไม่สูงจนเกินไป คำแนะนำที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือการบริหารจัดการ Food Waste ให้เกิดน้อยที่สุด ไปจนถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบ Circular Economy อย่างการนำของเสียกลับมาใช้เป็นพลังงานอีกครั้ง"
ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "ต้นทุนของสินค้าก้าวกระโดดขึ้นอย่างสูง เพราะได้รับผลกระทบทั้งจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เป็นห่วงโซ่ที่ส่งผลกระทบให้อาหารขาดแคลนและราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นในการจัดการต้นทุน เพราะหากไม่ปรับตัวจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนต้องเพิ่มราคาสินค้าก็จะกระทบต่อค่าครองชีพผู้บริโภคในที่สุด สำหรับความมั่นคงด้านอาหารแม้หลายคนมองว่าไทยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องจัดการด้วย โดยมีระบบเก็บข้อมูลเพื่อประเมินว่าสินค้าเกษตรประเภทใดจะล้นตลาดและขาดตลาด ซึ่งรัฐและเอกชนต้องร่วมกันปรับโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเกษตรในประเทศไทย"
คุณกำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน บริษัท เอส แอนด์พีซนิดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ต้องยอมรับว่าสงครามรัสเซีย ยูเครนส่งผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเบเกอรี่ซึ่งเป็นสินค้าขายดีของ S&P ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากต่างประเทศ ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยเจอราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้แต่อย่างไรก็ตามทางเราพยายามปรับตัวมาตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 มีการใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานบางส่วน อย่างการทำบัญชี เสิร์ฟอาหารในสาขา ไปจนถึงควบคุมต้นทุนด้านพลังงานด้วยการใช้โซลาร์รูฟ"
คุณทองดี ปาโส กรรมการผู้จัดการ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "ภาคธุรกิจจำเป็นปรับตัวโดยใช้ R&D งานวิจัย และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะมีแผนกภายในที่ดูแลอยู่แล้ว แต่ในส่วนผู้ประกอบการรายย่อยยังต้องการการสนับสนุน และผลกระทบจากอาหารขาดแคลนจะส่งผลกระทบในด้านต้นทุนราคา ซึ่งในระยะสั้นนั้นอาจใช้การบริหารจัดการช่วยได้แต่ในระยะยาวภาครัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยโดยการใช้นวัตกรรม ซึ่งในปัจจุบันตลาดกำลังให้ความสนใจเรื่อง FutureFood (อาหารแห่งอนาคต) เป็นอย่างมาก"
ProPak Asia 2022 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Sustainability in Processing and Packaging for our Better World" นำนวัตกรรม เทคโนโลยีและโซลูชั่น ด้านการผลิต การแปรรูปและบรรจภัณฑ์ที่ทันสมัย ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมจากทั่วทุกมุมโลกมารวมไว้ในที่เดียว ทั้งในรูปแบบการจัดแสดงและสาธิต การประชุมสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญและการเจรจากับนักธุรกิจ นักลงทุนจากทั่วโลกเป็นแรงบันดาลใจและขุมพลังในการเริ่มต้น ขับเคลื่อน และต่อยอด เพื่อยกระดับธุรกิจให้ก้าวสู่ความสำเร็จใหม่ ๆ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 18 มิ.ย. นี้ ที่ไบเทค บางนา โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.propakasia.com