svasdssvasds

“แปซิฟิกไพพ์” ผู้ผลิตท่อเหล็กใช้ Digital Transformation รับโลกธุรกิจใหม่

“แปซิฟิกไพพ์” ผู้ผลิตท่อเหล็กใช้ Digital Transformation รับโลกธุรกิจใหม่

แปซิฟิกไพพ์ฉลองครบรอบ 50 ปี มุ่งเติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหล็ก ปรับโครงสร้างเสริมทีมการตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ธุรกิจท่อเหล็ก แม้ว่าจะเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิม แต่ในโลกธุรกิจยุคใหม่ต้องสร้างการเรียนรู้ให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์มากขึ้น ควบคู่ไปกับการรับมือกับ Digital Disruption ด้วย Digital Transformation 

นางเอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จํากัด (มหาชน) ผู้บริหารมืออาชีพคนแรกที่เข้าบริหารงานกิจการกงสีอายุกึ่งศตวรรษแห่งนี้ กล่าวว่า ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี บริษัทเตรียมแผนงานรองรับการเติบโตสู่ปีที่ 51 และต่อๆ ไป ในฐานะ “ผู้นำธุรกิจการผลิตและจำหน่ายท่อเหล็ก” สู่ “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหล็ก” ด้วยนโยบายมุ่งมั่นสร้างสรรค์ทำเรื่องใหม่ๆ ให้กับเหล็ก เพื่อมอบประสบการณ์และมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรม

ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่แปซิฟิกไพพ์อยู่ในธุรกิจเหล็ก บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่หยุดยั้ง ในฐานะผู้ผลิตท่อเหล็กอันดับ 1 ของประเทศ ที่ผลิตเหล็กตรงความต้องการของลูกค้า และ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่ปัจจุบันต้องการผลิตภัณฑ์ที่ช่วยประหยัดเวลาทำงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

บริหารต้นทุน-ตั้งทีมการตลาด

บริษัทได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกลยุทธ์การตลาดใหม่ จากเดิมอุตสาหกรรมเหล็กถูกกำหนดโดยซัพพลายเออร์ (SUPPLY CHAIN DRIVE) ผู้ซื้อไม่ได้เห็นคุณภาพเหล็กที่แท้จริง สู่การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยห่วงโซ่คุณค่า (VALUE CHAIN DRIVE) วางโครงสร้างกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ และจัดเซ็กเมนต์ลูกค้า จับคู่ระหว่างสินค้ากับลูกค้า

นางเอื้อมพร กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวบริษัทปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ 2 ด้าน คือ

  1. การบริหารจัดการต้นทุน นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น 
  2. สร้างทีมภายในจากพนักงานทุกคน ให้เป็น Learning Organization และตั้งทีมการตลาดเพื่อสนับสนุนธุรกิจลูกค้าและคู่ค้า แทนการซื้อมาขายไปผ่านร้านค้าปลีกเช่นเดิม นำเสนอแพ็คเกจแบบ Total Solutions ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปสามารถใช้ได้ทั้งหมดไม่ต้องตัดแต่งใหม่ให้เหลือเศษ สร้างความรับรู้แก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับ “เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องเบอร์ 5 ท่อเหล็กต้องแปซิฟิกไพพ์เท่านั้น”

สร้างเครือข่ายเสริมแกร่ง

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมุ่งสร้างเครือข่ายและความร่วมมือกับบุคคลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจ และความผูกพันซึ่งกันและกัน ทั้งยังพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องและมั่นคงของสินค้า บริการ และ นวัตกรรม ตอกย้ำการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเหล็ก

เครือข่ายความร่วมมือจะผนึกกำลังหลากหลายกลุ่ม เช่น สถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นอุตสาหกรรมมีอนาคต มีโอกาสเติบโต จากพื้นฐานของประเทศ ยังมีโครงการก่อสร้างโครงการใหญ่อีกมาก มีขนาดการบริโภคเหล็กประมาณ 20 ล้านตัน/ปีโดยภาพรวม และมีอัตราเติบโตปีละ 4 - 5% ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะทำเพียงลำพัง

อย่างไรก็ตาม ก่อนดึงความร่วมมือภายนอกเข้ามา บริษัทได้เสริมความแข็งแรงภายในให้ทันสมัย มีระบบการจัดการชัดเจน มีระบบตรวจสอบ ติดตาม เพื่อขยายวงสินค้าหรือช่องทางจำหน่าย

นำดิจิทัลเสริมแกร่ง    

นางเอื้อมพร กล่าวด้วยว่า บริษัทยังเริ่มทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลตั้งแต่ปี 2564 โดยนำดิจิทัล มาปรับปรุงกระบวนการทำงานตั้งแต่หน้าบ้านถึงหลังบ้าน นำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ และตรวจจับ การทำงาน ส่วนที่เน้นหลักๆ คือ หน้าบ้านกับกลางบ้านทำกระบวนการไร้กระดาษ (paperless) ลดขั้นตอนการสั่งซื้อ การวางแผนจัดหาวัตถุดิบต่างๆ

ส่วนในโรงงานได้นำ IIoTs หรือ Industrial Internet of Things เข้ามาใช้ในบางกระบวนการ เช่น เซ็นเซอร์ควบคุมอุณหภูมิ ใช้ Big Data ตรวจจับข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

การทำ Digital Transform ของบริษัทเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง เพราะต้องการทำให้สินค้าเหล็ก  ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป