svasdssvasds

ท๊อป จิรายุส เผยเทรนด์โลกเปลี่ยนไทยต้องไปเศรษฐกิจดิจิทัล

ท๊อป จิรายุส เผยเทรนด์โลกเปลี่ยนไทยต้องไปเศรษฐกิจดิจิทัล

หลังได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum (WEF) ท๊อป จิรายุส แห่งบิทคับหยิบยกเทรนด์ของเศรษฐกิจโลกจากผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจ มาถ่ายทอด เมื่อถึงเวลาที่กฎของโลกเปลี่ยน

หลังได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum (WEF) ท๊อป จิรายุส แห่งบิทคับหยิบยกเทรนด์ของเศรษฐกิจโลก มาถ่ายทอด เมื่อถึงเวลาที่กฎของโลกเปลี่ยน

ท๊อป จิรายุส เผยเทรนด์โลกเปลี่ยนไทยต้องไปเศรษฐกิจดิจิทัล ในเวทีงานดินเนอร์ทอล์ค “Thailand big change ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร” ในโอกาสครบรอบ 22 ปีเนชั่นทีวี  “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หนึ่งในนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ได้หยิบยกเอาไฮไลท์และเทรนด์ที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังก้าวไป และ มุมของเหล่าซีอีโอตัวท็อป ระดับตัดสินใจที่พูดไว้ในเซสชันต่างๆ ของงานมาถ่ายทอดให้ฟัง  

ความน่าสนใจของเวที WEF เพราะเป็นเวทีที่มีทั้งผู้นำโลก ผู้นำทางความคิด และ ผู้นำทางเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมงาน

ท็อประบุว่า สิ่งที่ผู้นำทั่วโลกระดับ Decision Maker กำหนดทิศทาง Quality growth แทบทุกเวที พูดถึงกรีนอีโคโนมี เรื่องคาร์บอนเครดิตพูดมากขึ้นเรื่อยๆ  บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์ ตั้งเป้าภายในปี 2030 จะต้องบรรลุเป้าหมาย คาร์บอน neutrality ให้ได้

“กฎของเกม กฎของโลกเปลี่ยน อนาคต ลูกค้าจะเลือกว่าประเทศไหนจะผลิต กรีนซีเมนส์ได้ ไม่ได้เลือกที่ราคาหรือต้นทุนอย่างเดียว หรือ คุณภาพอย่างเดียว จะเป็นตัวเลือกแรกของ ซัพพลายเออร์ กรีนเทคโนโลยีจะถูกบริษัทใหญ่ซื้อ”

ท็อปยกตัวอย่างให้เห็นชัดว่าอีกหน่อย บริษัทต่างๆ ต้องไปในแนว Green Economy ดังนั้นการเติบโตแบบคุณภาพจึงเป็น ธีมที่เขา มองว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกจะไป เช่นเดียวกับธีม Digital wealth โดยเฉพาะจีนเองก็สนับสนุนอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยี ซึ่งเขามองว่า ประเทศไทยเองก็ต้องเป็นดิจิทัลของอาเซียนให้ได้ เพราะทิศทางของโลกไปทางนั้น ตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนที่เพิ่มเป็น 350 ล้านคนภายใน 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า “เงินกำลังจะเปลี่ยนกระเป๋า แม่น้ำกำลังจะเปลี่ยนสาย”

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital Inclusion) ซึ่งจะต้องมีความเท่าเทียม 3 ด้าน คือ ด้านการเงิน การศึกษา และ สุขภาพ  ดังนั้นที่สำคัญที่เหล่าผู้นำมอง คือ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พวกเขามองว่า อินเทอร์เน็ตควรจะเป็น สิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ฟรี เหมือนน้ำเหมือนอากาศ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้คนสามารถยกระดับทักษะของตัวเองได้

“Basic Human Right ที่รัฐบาลจะต้องให้ประชาชนทุกที่ คือ ฟรีอินเทอร์เน็ต ไวไฟสาธารณะ และดิจิทัลไอดี เพื่อปลดล็อกความเท่าเทียมทางดิจิทัล ถ้าไม่มีไอดีจะมีการเงินและระบบสาธารณสุขได้ไง”

ส่วนคำว่า “โลกเปลี่ยน” คือ โควิดขับเคลื่อนให้โลกเปลี่ยนไป ภาวะเงินเฟ้อขับเคลื่อนให้ธุรกิจต้องปรับ นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัด ต้องดูแลตัวเองให้ได้ เงินเฟ้ออาจจะยาว 6-18 เดือน ดังนั้นคำว่าเติบโตเชิงคุณภาพจึงเหมาะกับยุคที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงแบบนี้มากที่สุด

ท็อปยังทิ้งท้ายว่า ผู้นำประเทศไทย ควรไปเป็นสมาชิกของ  World Economic Forum พบปะกับผู้นำทั่วโลก เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยและนำกลับมาพัฒนาประเทศไทยร่วมกัน