เชื่อว่าหลายคนที่เคลมประกันโควิด-19เจอ จ่าย จบ ยังรอความหวังว่าเงินจะเข้าในเร็ววัน มหากาพย์ยาวนานเรื่องนี้ยังไม่จบ ล่าสุดคปภ. ไฟเขียว“พุทธธรรมประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราว เร่งแก้ไขฐานะการเงิน คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน
เจอ จ่าย จบ ยังไม่จบง่ายๆ
เชื่อว่าตอนนี้หลายคนกำลังรอเงินเคลมประกันโควิด -19 เจอ จ่าย จบ อยู่ บางรายถึงขั้นโอดครวญว่าส่งเอกสารการเคลมประกันโควิดไปตั้งแต่ชาติที่แล้วยังไม่มีหวี่แววที่จะได้รับเงินชดเชยเลย โดยเฉพาะคนที่ซื้อประกันโควิด-19 กับบริษัททที่มีปัญหาอยู่ในตอนนี้ เรียกได้ว่าทำอะไรไม่ได้ก็ต้องรอต่อไป แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกข์ร้อนของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รีวิวเคลมประโควิด -19 เจอ จ่าย จบ ค่ายไหนเป็นอย่างไร ? ต้องเตรียมอะไรบ้าง
ประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ ใกล้หมดอายุ จะมีขายต่อไหม แล้วต่อไปจะเป็นอะไร ?
ปี2564 บทเรียนราคาแพง ประกันภัยโควิด-19 เจอ จ่าย จบ แต่…สุดท้ายกระอักเลือด !
ล่าสุดวงการประกันภัยมีเรื่องใหม่ให้น่าจับตามอง
ว่าด้วยเรื่องความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เรื่องประกันโควิด -19 เจอ จ่าย จบ ยังไม่ทันจะจบ เรื่องใหม่ในวงการประกันภัยมาอีกแล้ว ล่าสุดบอร์ด คปภ. ไฟเขียว“พุทธธรรมประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราว เร่งแก้ไขฐานะการเงิน คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด
พุทธธรรมประกันภัย ทำไมถึงถูก คปภ.สั่งหยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราว
เรื่องนี้ได้ถูก เปิดเผยจาก “ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ซึ่งได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 6/2565 ได้มีมีมติเห็นชอบให้บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป เนื่องจาก บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2564 ต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 นายทะเบียนจึงสั่งให้บริษัทฯ แก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และบริษัทฯ ได้เสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 ออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า
บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการแก้ไขโครงการโดยมีการเพิ่มทุน จำนวน 140 ล้านบาท มีความพยายามในการแก้ไขฐานะการเงิน ไม่มีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ดังนั้น จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ
ต่อมาในช่วงเดือนมกราคม 2565 บริษัทฯ ไม่สามารถเพิ่มทุนให้เป็นไปตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนได้ เนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดจึงทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถนำมตินั้นไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดได้
บริษัทฯ จึงมีหนังสือขอให้นายทะเบียนใช้อำนาจสั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุน จำนวน 160 ล้านบาท นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) จึงใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุน และต้องดำเนินการเพิ่มทุนชำระแล้วให้ครบจำนวน 160 ล้านบาท ภายในเดือนเมษายน 2565 ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ โดยให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่นายทะเบียนสั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุนบริษัทฯ
ทั้งนี้จึงไม่สามารถดำเนินการเพิ่มทุนชำระแล้วให้ครบจำนวน 160 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จ ทั้งปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินและการดำเนินการ ดังนี้
- 1. มีฐานะการเงินไม่มั่นคง
- 2. มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า
ส่องรายละเอียดมีอะไรบ้าง ?
จากเรื่องราวดังกล่าวจึงทำให้นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) จึงมีคำสั่งให้บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ดังนี้
-ให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
- แก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง
-บริษัทจะต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบรายการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและเร่งดำเนินการบันทึกลงสมุดทะเบียนโดยเร็วและให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
-บริษัทจะต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้รายละเอียดกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังคงมีผลบังคับใช้เป็นรายกรมธรรม์ประกันภัย
-ให้บันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย
-เร่งรัดพิจารณาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
-เร่งจัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการและนำส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้ดำเนินการตามข้อ 2 ทุกเจ็ดวัน และดำเนินการตามข้อ 3, 4 และ 5 ทุกวันทำการ