ผู้เชี่ยวชาญฯ เผยผลตรวจ เด็ก 8 ขวบ ลูกครึ่งไทย-ยูเครน ถูกสัตว์ทะเลกัดขาเย็บ 33 เข็มขณะลงเล่นน้ำหาดกมลา จ.ภูเก็ต คือฉลาม เบื้องต้นสงสัยฉลามอยู่ 2 ชนิด คือ ฉลามหัวบาตรกับฉลามหูดำ
จากกรณี เด็กลูกครึ่งไทย-ยูเครน อายุ 8 ปี ลงเล่นน้ำทะเล แล้วโดนฉลามกัดเข้าบริเวณน่องข้างขวา เป็นแผลฉีกขาดขนาดใหญ่ บริเวณริมหาดกมลา อ.กะทู้ ก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตเป็นการด่วน
ล่าสุด นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบน (อันดามัน), ตัวแทนจากประมงจังหวัดภูเก็ต, ตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ต, เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต (TAC) และนายเดวิด มาร์ติน ชาวฝรั่งเศส ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามกลุ่มอนุรักษ์ Oceon For All ได้ร่วมพูดคุยกับเด็กชายอเล็กซ์ และครอบครัว ซึ่งมีมารดาเป็นคนไทยและบิดาเป็นชาวยูเครน เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางช่วยเหลือในเรื่องการรักษา รวมถึงเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า เด็กชายคนดังกล่าวถูกสัตว์ทะเลชนิดใดกัน เพื่อจะได้วางแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
10 ข้อควรปฏิบัติเมื่อไปเที่ยวทะเล ต้องทำยังไงถึงเป็นสายรักษ์โลกได้
กลับสู่วิถีเดิม วาฬเพชฌฆาตกลับมาล่าวาฬสีน้ำเงิน หลังพ้นยุคมนุษย์ล่าวาฬ
โดยเด็กชายณภัทร เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะที่กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่นั้นก็รู้สึกเจ็บที่ขา แต่ไม่รู้ว่าโดนอะไรกัด กระทั่งเห็นเป็นเงาดำๆ พุ่งเข้ามา จึงพยายามดิ้นรนสู้โดยใช้มือปัดป้องและต่อยไปที่ลำตัว ซึ่งตอนนั้นคิดว่าเป็นปลาสากเพราะเคยเห็นและจับตัวปลาสากมาก่อน และพยายามว่ายน้ำเข้าฝั่งเพื่อขอความช่วยเหลือและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทำแผลเย็บไป 33 เข็ม
ด้านนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า มาเยี่ยมให้กำลังใจ และสอบถามข้อมูลรายละเอียดที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือ กรณีหากเป็นชาวต่างชาติจะมีกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยว แต่หากเป็นคนไทยก็สามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิที่มีอยู่ ซึ่งกรณีนี้น้องเป็นคนไทยก็ใช้สิทธิตามที่มีอยู่ในส่วนของบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น
จากการพูดคุยกับ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ และผู้เชี่ยวชาญ รวมผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า สัตว์ทะเลที่กัดได้ มี 2 ชนิด คือ ฉลามและปลาสาก ซึ่งเมื่อดูจากร่องรอยบาดแผลคาดว่าน่าจะเป็นฉลาม ส่วนแนวทางการป้องกันและไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกนั้น จะมีการปักป้ายเตือนให้ระวังในการลงเล่นน้ำบริเวณดังกล่าว รวมถึงการให้ทางบีชการ์ดหรือไลฟ์การ์ดคอยกำกับดูแลการลงเล่นน้ำของนักท่องเที่ยว และคอยสังเกตบริเวณชายหาด รวมทั้งบินโดรนเพื่อตรวจสอบด้วย
ขณะที่นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบน (อันดามัน) กล่าวถึงสาเหตุที่มั่นใจว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากถูกฉลามกัดว่า จากการวินิจฉัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านปลาฉลาม และดูร่องรอยของบาดแผล จึงตัดปลาสากออกไป เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่ใช่แหล่งหากินของปลาสาก รวมถึงร่องรอยของบาดแผลที่สำคัญที่บ่งบอกว่าเป็นฉลาม คือ มีร่องรอยของฟันบนและฟันล่างตรงบาดแผลที่ขาขวา ซึ่งเป็นลักษณะของมีคมทั้ง 2 ด้าน เป็นการงับทั้งฟันบนและฟันล่าง
ประกอบกับจุดเกิดเป็นเซิร์ฟโซน ซึ่งปกติฉลามจะหากินบริเวณนี้อยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากตัวของฉลามเห็นมีการเคลื่อนไหวบริเวณที่น้ำขุ่น และเข้าทดสอบดูว่าใช่อาหารหรือเปล่า แต่เมื่อกัดลงไปแล้วพบว่าไม่ใช่ก็ไม่มีการโจมตีซ้ำ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดน้อยครั้งมาก เบื้องต้นสงสัยฉลามอยู่ 2 ชนิด คือ ฉลามหัวบาตรหรือ Blue Shark กับฉลามครีบดำ แต่ให้น้ำหนักไปทางฉลามหัวบาตรมากกว่า ทั้งนี้ยังไม่ยืนยันว่าชนิดใดกันแน่