ไปรษณีย์ไทย ตรึงราคาค่าบริการจดหมายในประเทศ 3 บาท และมีอัตราพิเศษสำหรับสำหรับภาคเอกชนที่ส่งจำนวนมาก ยืนยันการปรับอัตราฯ ไม่กระทบผู้ใช้บริการรายย่อย - ประชาชน เช็กเลย! อัตราใหม่ตามน้ำหนัก ได้ที่นี่
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้รับการอนุมัติปรับอัตราค่าบริการ ไปรษณียภัณฑ์ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้สอดรับกับ สภาพเศรษฐกิจ โดยยังคงอัตราค่าบริการ พิกัดแรกน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม เช่นเดิม และผู้ใช้บริการที่ฝากส่งเอกสารในปริมาณมาก จะมีส่วนลดพิเศษ รวมถึงพัฒนาระบบการจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร หรือดิจิทัลเมล์ พร้อมเป็นตัวกลางในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่สอดรับกับยุคสมัย
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ตามที่มีมติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบการปรับอัตราค่าบริการไปรษณียภัณฑ์ ตามร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรนั้น ถือเป็นการปรับอัตราค่าบริการครั้งแรกในรอบ 18 ปี ของการดำเนินงานของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นเพียงการขึ้นราคาเฉพาะการส่งจดหมายและเอกสารสำคัญ และจะปรับเฉพาะบริการจดหมายในประเทศเท่านั้น โดยอัตราค่าบริการพิกัดแรก น้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม ซึ่งเป็นพิกัดน้ำหนักที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้บริการ ยังคงไว้ที่ 3 บาทเช่นเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนเอกสารหรือจดหมายที่มีน้ำหนักเกินจากที่กำหนดจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจและการแบกรับต้นทุน อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ภาคธุรกิจซึ่งฝากส่งเอกสารและจดหมายกับไปรษณีย์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง หรือการส่งปริมาณมาก ๆ จะมีการมอบส่วนลดในอัตราพิเศษ
นอกจากนี้ เพื่อให้การส่งจดหมายและเอกสารสำคัญเกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ไปรษณีย์ไทย ได้พัฒนาบริการรองรับและเป็นทางเลือก คือ การจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร เพิ่มช่องทางการส่งเอกสารที่สะดวกรวดเร็วขึ้น การเป็นตัวกลางในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ให้กับเอกสารสำคัญของหน่วยงาน/องค์กร เพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่าเอกสารนั้นเป็นตัวจริง โดยเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน รองรับการจัดการเอกสารในยุคดิจิทัล
ดร.ดนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไปรษณีย์ไทยยังคงเดินหน้าเป็นพลังสำคัญ สนับสนุนสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเปิดทางให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือผู้ประกอบการ e-Commerce พัฒนาคุณภาพบริการ EMS ส่งด่วนทุกวัน สะดวกทุกวัน เพิ่มโปรคุ้ม "EMS ลดทุกวัน" ช่วยเซฟค่าส่งได้มากขึ้น การเข้ารับฝากสิ่งของถึงบ้านโดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องออกจากบ้าน การพัฒนาระบบดิจิทัลให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวันของผู้ค้าขายและประชาชน
เช่น การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ให้วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart.com แพลตฟอร์มออนไลน์ รวบรวมสินค้าเกษตรและวิสาหกิจชุมชนที่ใหญ่ที่สุดการสนับสนุนสาธารณสุข ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด – 19 ตลอดจนการพัฒนาบริการอื่น ๆ เพื่อให้คนไทยได้รับบริการที่ครอบคลุม และมีความต่อเนื่องในทุก ๆ วัน ดร.ดนันท์ กล่าวสรุป
สำหรับอัตราไปรษณียากรสำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศใหม่ ดังนี้
จดหมาย จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) จดหมาย ประเภทซอง และ 2) จดหมาย ประเภทหีบห่อ (กำหนดเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับ UPU) โดยมีอัตราค่าบริการให้แยกประเภทซอง/หีบห่อ เป็น 2 ระยะ
1.1 ระยะแรก (พ.ศ. 2565-2567) (1) จดหมาย ประเภทซอง ยังคงอัตราค่าบริการพิกัดน้ำหนักแรกไว้ที่ 3 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม (2) จดหมาย ประเภทหีบห่อ มีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 30 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 55 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม
1.2 ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป (1) จดหมายประเภทซอง จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 4 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม (2) จดหมายประเภทหีบห่อ จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 34 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม
ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ และพัสดุไปรษณีย์ ไม่เปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการในระยะแรก (พ.ศ. 2565-2567) เป็นระยะเวลา 3 ปี และระยะที่สองจะปรับอัตโนมัติตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
กำหนดอัตราไปรษณียากรพิเศษสำหรับไปรษณียภัณฑ์ภายในประเทศที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีส่วนลดสูงสุดไม่เกินร้อยละ 44 จากอัตราที่ขอปรับขึ้นใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขในการใช้บริการ เช่น ฝากส่งเป็นประจำต่อเนื่อง ฝากส่งต่อเดือนตั้งแต่ 500,000 ฉบับต่อเดือนขึ้นไป มีการคัดแยกเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งต่อในระบบงานไปรษณีย์ ฝากส่งและนำจ่ายในเขตพื้นที่เดียวกัน เป็นต้น