เรื่องราวของ 3 อดีตผู้ว่า กทม. ที่สามารถคว้าชัยชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยที่ 2 แต่ก็มีเหตุให้ต้องอยู่ไม่ครบเทอม
แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่สามารถรักษาแชมป์ในสมัยที่ 2 ได้ แต่ก็ไม่มีคนใด อยู่ครบเทอมในสมัยที่ 2 เลย โดยผู้ที่เคยชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัยในอดีตที่ผ่านมามี 3 คนด้วยกันดังนี้
1. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในปี 2528 หลังจากครบเทอมก็ได้ลงทำศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีก และก็ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายกว่า 7 แสนคะแนน ชนะคู่แข่งอันดับ 2 ไปเกือบเท่าตัว
แต่ในการเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 นี้ พล.ต.จำลองอยู่ไม่ครบเทอม เพราะตัดสินใจเข้าสู่การเมืองสนามใหญ่ นำพรรคพลังธรรมที่ตนเองก่อตั้งขึ้นมา ทำศึกเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2535
แต่ถึง พล.ต.จำลอง จะลาออก แต่ด้วยกระแสจำลองฟีเวอร์ ทำให้กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่ พล.ต.จำลอง สนับสนุนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2535
ในปี 2539 พล.ต.จำลอง ได้หวนคืนสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ ดร.โจ พิจิตต รัตตกุล ไปอย่างบอบช้ำ
บทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้ง อดีตผู้ว่าฯ กทม. คนไหนได้คะแนนเสียงมากที่สุด ?
ส่องงบประมาณ กทม. ปี 2565 กับ 10 หน่วยงานที่ได้งบฯ มากที่สุด
2. อภิรักษ์ โกษะโยธิน
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัยซ้อนได้ โดยเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรกในปี 2547 และชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 ในปี 2551
แต่อภิรักษ์ก็ได้ตัดสินลาออกจากตำแหน่ง ในปี 2552 หลังถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด การจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ แม้กฎหมายในเวลานั้นยังไม่มีข้อบังคับให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่อภิรักษ์ให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเมืองไทย ซึ่งในเวลาต่อมาอภิรักษ์ก็ได้รับการตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหาจากคดีดังกล่าว
3. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2552 สืบเนื่องมาจากการลาออกจากตำแหน่งของอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงทำศึก และก็ชัยชนะการเลือกตั้ง
ต่อมาในปี 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ได้ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยผลงานในสมัยแรกไม่ค่อยสร้างความประทับใจให้กับชาว กทม. นัก อีกทั้งผลโพลทุกสำนักออกมาในทิศทางเดียวกันว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย มาเป็นอันดับ 1 ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า เป็นเรื่องยากที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะรักษาแชมป์ไว้ได้
ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองแบ่งขั้วออกเป็น 2 ฝ่าย กลยุทธ์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ในช่วงโค้งสุดท้าย ก็สัมฤทธิ์ผล ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยที่ 2 แบบแหกโพล ด้วยคะแนนเสียงที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ กว่า 1.2 ล้านคะแนน ในขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็เป็นผู้พ่ายแพ้ที่ได้คะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน โดยได้ไปกว่า 1 ล้านคะแนน
กระทั่งในเดือนสิงหาคม ปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะ คสช. ก็ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ระหว่างการตรวจสอบหรือสอบข้อเท็จจริง คดีทุจริตที่มีการร้องเรียน และในเดือนตุลาคม ก็มีคำสั่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ในเวลานั้น เป็นผู้ว่าฯ กทม. แทน
อ้างอิง