เรียนรู้ภัยสุขภาพที่ควรระวัง จากประสบการณ์ตรงของนางเอกสาว "ฝ้าย เวฬุรีย์" ที่ติดโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก จนมีอาการหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตแบบนี้ "โทรศัพท์มือถือ" หรือ "สมาร์ทโฟน" นั้นได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวันไปแล้ว แทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 ของเราเลยก็ว่าได้ ทั้งใช้ติดต่อสื่อสาร อัปเดตข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลต่างๆ หรือกระทั่งช่วยในเรื่องการงาน การเรียน
และถึงแม้โทรศัพท์มือถือจะให้ความสะดวกสบาย จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต แต่หากใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป จนเกินความพอดี อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เห็นได้จากกรณีตัวอย่างของนางเอกสาว "ฝ้าย เวฬุรีย์" ที่มีพฤติกรรมติดมือถืออย่างหนัก ทำให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
โดยทาง ฝ้าย เวฬุรีย์ ได้เข้ารับการรักษา ด้วยการทำกายภาพบําบัด รวมทั้งปรับเปลี่ยนนิสัยการเล่นมือถือ จนอาการดีขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดเจ้าตัวได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวผ่าน ผู้จัดการออนไลน์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนที่เสพติดโทรศัพท์มือถือแบบเธอ ดังต่อไปนี้
ภัยเงียบจากพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือ
"คิดว่าหลายคนคงมีอาการแบบนี้ บอกเลยอย่าชะล่าใจ บางทีเราเล่นมือถือ แล้วเราเกร็งโดยที่เราไม่รู้ตัว ของฝ้ายคือปล่อยไว้ จนต้องไปแอดมิท ตอนแรกกลัวมากว่าเราจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะมันนอนไม่ได้ ลุกขึ้นมาไม่ได้เลย หันหัวไม่ได้ ขับรถไม่ได้เลย
ปรากฏว่าไป MRI พบว่าหมอนรองกระดูกมันปลิ้น กล้ามเนื้ออักเสบหลายจุดพร้อมกัน คือมันเป็นเรื้อรังมานาน ตอนนั้นต้องใส่เฝือกที่คอ พออาการดีขึ้นก็ไปทำกายภาพ พยายามยืดให้มากขึ้น ไม่อยู่ในท่าใดๆ ก็ตามนานๆ รวมถึงไม่เล่นมือถือมากเกินไป
ซึ่งคุณหมอบอกว่าเป็นหมอนรองกระดูกคอเสื่อมไปแล้ว สาเหตุหลักมาจากการเล่นมือถือ และเป็นคนชอบเดินคอยื่น ไหล่ห่อ เป็นบุคลิกที่เราเป็นโดยที่เราไม่รู้ตัวมา 30 ปีแล้ว มันยากที่จะปรับ แต่หมอก็บอกว่าควรจะปรับนะ เพื่อชีวิตที่เหลืออยู่ อยากจะเตือนทุกคนว่าอย่าชะล่าใจ หากมีอาการใดๆ ผิดปกติก็ตาม"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีเจแมน พูดในฐานะพ่อที่มีลูกสาว ข่าวข่มขืน-ทำร้ายผู้หญิงไม่เคยหายไป!
แอนนา ตอกกลับ ป้าแตง ญาติ กระติก หลังโดนพาดพิงมาช่วย แตงโม นิดา แค่ 2 เดือน
5 เรื่องสุดว้าว! มิลลิ ดนุภา แร็ปเปอร์ดังวัย 19 ผู้สร้างความปังระดับโลก
อาการเริ่มต้นคล้ายกับโรคออฟฟิศซินโดรม
"อาการมันคือออฟฟิศซินโดรมเลย ปวดคอ ตึงคอ เอียงไม่ได้ คอเคล็ดเหมือนเรานอนตกหมอน มันเป็นบ่อยๆ จนมันสะสมแล้วก็ออกมาเป็นแบบนั้น ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นคนนั่งทำงานออฟฟิศ เราแค่ติดมือถือมาก"
ถึงจุดเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต
"ฝ้ายติดมือถือหนักมาก จะอยู่ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ก้มหน้ากดๆ ไม่ลุกไปไหน เป็นคนขี้เกียจคนหนึ่ง จนสุดท้ายอาการมันก็เกิด ใช้เวลาไม่นานในการรักษา แต่พอหายได้สักพัก อาการมันก็กลับมาอีก เพราะการใช้ชีวิตของเรามันไม่เปลี่ยน ฉะนั้นคนที่มีอาการแบบนี้ ต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดเสมอๆ เพราะพอมันเป็นแล้วเหมือนมันก็เป็นเลย มันไม่กลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้าเรากายภาพบำบัด มันก็จะดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตของเรา"
และนอกจากสิ่งที่ ฝ้าย เวฬุรีย์ กล่าวมาข้างต้นแล้ว ทาง "สปริงบันเทิง" ยังได้รวบรวมข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท ที่ได้พูดถึงนิสัยก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย นำมาซึ่งโรค Mobile Syndrome ได้ดังนี้
Mobile Syndrome คืออะไร
"Mobile Syndrome หรือ Smartphone Syndrome หรือ โรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง (Text Neck Syndrome) ที่เกิดจากพฤติกรรมการก้มหน้าใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ อาการทั่วไปก็มีลักษณะเดียวกันกับโรค Office Syndrome ที่พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่เป็น เพราะมักต้องทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดวัน ส่งผลให้บริเวณคอ บ่า ไหล่ เกิดอาการปวด แต่ในส่วนของ Mobile Syndrome มักมีการปวดเกร็งบริเวณข้อมือ นิ้ว และแขนร่วมด้วยมากกว่า"
โรคนี้เกิดจากพฤติกรรม การรักษาจะมี 2 แนวทางใหญ่ๆ ดังนี้.....
1. การแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรม โดยการปรับท่าทางของร่างกายให้อยู่ในอิริยาบถที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อต้องใช้โทรศัพท์มือถือ รวมถึงการใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือให้น้อยลง
2. รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เช่น การคลายกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อ การบริหารร่างกายและอวัยวะต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ร่วมกับการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ลดปวด และการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีการเสื่อมของกระดูกหรือหมอนรองกระดูกคอร่วมกับการกดทับเส้นประสาทหรือปรายประสาท จะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน เพื่อพิจารณาการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดแผลเล็กที่มีความแม่นยำและปลอดภัยกว่าการผ่าตัดแบบดั่งเดิม จึงเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทค่อนข้างต่ำมาก อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมจึงเป็นแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท,ผู้จัดการออนไลน์