svasdssvasds

“สุวรรณภูมิ” แจง ผู้โดยสารแน่น เพราะเป็นช่วงพีค สั่งเพิ่มมาตรการด่วน

“สุวรรณภูมิ” แจง ผู้โดยสารแน่น เพราะเป็นช่วงพีค สั่งเพิ่มมาตรการด่วน

สุวรรณภูมิแจง หลังโซเชียลผุดภาพผู้โดยสารขาเข้าแน่น ชี้เป็นแค่ช่วงพีค แต่สั่งการเพิ่มช่องทางระบายผู้โดยสาร-ชอความร่วมมือโรงแรมเพิ่มคนรับนักท่องเที่ยวก่อนไปตรวจ RT-PCR

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หลังจากที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์โพสต์ภาพ สนามบินสุวรรณภูมิฝั่งอาคารผู้โดยสารขาเข้า มีความหนาแน่น โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวจะต้องนัดเจอกับตัวแทนของโรงแรมที่สนามบิน เพื่อไปตรวจ RT-PCR ที่โรงแรม จึงทำให้เกิดการหนาแน่นเป็นบางช่วง

ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารหนาแน่น จะเป็นช่วงประมาณ 05.00 – 07.00 น. และ 12.00 – 15.00 น. โดยมีจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 1,500 – 2,000 คนต่อชั่วโมง ขณะที่ สนามบินสุวรรณภูมิ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 3,000 คนต่อชั่วโมง ตามมาตรการการคัดกรองด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน

อ่านข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิ ยืนยันว่า “ความหนาแน่นไม่ได้เกิดขึ้นทั้งวัน แต่เป็นแค่บางช่วงเวลา”

โดยล่าสุด สนามบินสุวรรณภูมิได้เพิ่มมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันความหนาแน่น ดังนี้

  1. ขยายพื้นที่จัดตั้งเคาน์เตอร์บริเวณจุดนัดหมายระหว่างผู้โดยสารกับโรงแรมเพิ่มเติม จากเดิม 8 เคาน์เตอร์ เป็น 17 เคาน์เตอร์ 
  2. กำหนดให้ติดป้ายแสดงชื่อโรงแรมเรียงตามตัวอักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเข้ารับบริการของผู้โดยสาร
  3. เพิ่มช่องทางออกจากห้องสายพานรับกระเป๋าขาเข้าจากจุดตรวจศุลกากรจากเดิม 1 ช่องทาง เป็น 2 ช่องทาง
  4. ขอความร่วมมือโรงแรมเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และรถรับส่งผู้โดยสารที่จะต้องนำไปตรวจ RT-PCR และรอผลที่โรงแรม ให้มีจำนวนเพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น
  5. จัดเจ้าหน้าที่ ทสภ. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการให้บริการผู้โดยสารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารขาเข้าเฉลี่ยราว 10,000 คน/วัน ตั้งแต่ประเทศไทยยกเลิกมาตรการตรวจ RT-PCR ที่ประเทศต้นทาง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 7,000-8,000 คน/วัน ในเดือน มี.ค.

related