เมืองเชียงใหม่รื้อฟื้นประเพณีโบราณ “หุงน้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมือง” อัญเชิญน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดเชียงใหม่ มาประกอบพิธี เพื่อแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยว เป็นการร่วมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 726 ปี
เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองหนึ่งในประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศไทยทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ในวันที่ 12 เมษายน 2565 เมืองเชียงใหม่จะมีอายุครบ 726 ปี เป็นวันที่ประจวบเหมาะกับเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ เป็นวันที่เริ่มศักราชใหม่ตามแบบโบราณ คนเมืองจะถือเป็นการเริ่มสิ่งใหม่และรับสิ่งที่ดีๆ เพื่อให้เกิดความงดงามความดีงามในชีวิตตลอดทั้งปี
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มีการรื้อฟื้นประเพณีพิธีกรรมโบราณที่สูญหายไปแล้วนับร้อยปี นำกลับมาปฏิบัติอีกครั้งและส่งมอบให้แก่ประชาชนทั้งชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในเทศกาลสงกรานต์ และการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 726 ปี
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในปี 2565 นี้ ททท. 2564 ร่วมสืบสานประเพณีล้านนาโบราณ โดยจัดกิจกรรม“น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” อัญเชิญน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง นำมาประกอบพิธีหุงน้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมือง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก และดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ สัมผัส และรับน้ำทิพย์เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี๋ใหม่เมือง โดยจะมีการแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 12 – 16 เมษายน 2565 มีจุดแจกน้ำทิพย์ทั้งหมด 10 จุด จำนวน 10,726 ขวด นักท่องเที่ยวสามารถลงทะเบียนรับน้ำทิพย์โดยการสแกน QR Code เพื่อลดการแออัดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
นายยุทธการ ขันชัย ผู้จัดการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และ หัวหน้าศูนย์ศึกษาเอกสารโบราณ อธิบายว่า พิธีการหุงน้ำทิพย์ถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญ ซึ่งมีขั้นตอนพิธีกรรมที่รื้อฟื้นการปฏิบัติแบบโบราณตามความเชื่อโบราณ กล่าวคือ เป็นการใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน 9 แหล่งน้ำที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ คือ
(1) บ่อน้ำทิพย์วัดบุพพาราม อ.เมืองเชียงใหม่
(2) บ่อน้ำทิพย์บนยอดดอยอ่างกาหลวงหรือดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง
(3) น้ำจากต้นน้ำปิง อ.เมือง
ซึ่งแหล่งน้ำสำคัญทั้ง 3 แหล่งนี้ เป็นแหล่งน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 108 แห่งทั่วประเทศที่รวบรวมนำไปทำพิธีราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ ยังเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำอีก 6 แห่งเพื่อใช้ในการประกอบพิธีหุงน้ำทิพย์ในครั้งนี้ ได้แก่
(4) บ่อน้ำทิพย์วัดผาลาด อ.เมืองเชียงใหม่
(5) บ่อน้ำทิพย์วัดป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่
(6) บ่อน้ำทิพย์วัดดับภัย อ.เมืองเชียงใหม่
(7) น้ำทิพย์วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่
(8) บ่อน้ำทิพย์วัดธาราทิพย์ไชยประดิษฐ์ อ.แม่แตง
(9) บ่อน้ำทิพย์วัดพุทธเอ้น อ.แม่แจ่ม
ในวันที่ 10 เมษายน 2565 เป็นวันทำพิธีหุงน้ำทิพย์ ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร บริเวณลานชมวิว เป็นพิธีตามแบบโบราณ มีการเจริญพระพุทธมนต์ทั้ง 7 ที่ใช้ในพิธีสำคัญของเมือง ซึ่งการทำพิธีในการหุงนี้มีหลายขั้นตอนในการทำเพื่อให้เกิดพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์รวมถึงจุดไฟจากดวงอาทิตย์ ใช้ก้อนเส้ารูปสัตว์มงคล ฟืนจากไม้มงคลต่างๆ ตัวยาที่ใช้ในการหุงก็เป็นเครื่องหอมหลายอย่าง รวมถึงใบไม้มงคลเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในช่วงค่ำ จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้ที่ได้รับน้ำทิพย์อีกด้วย
ผู้ว่า ททท. กล่าวว่า ททท.ให้ความสำคัญกับการสืบสานงานประพณีต่างๆ เพราะเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและไม่สามารถทดแทนกันได้ และ จากข้อมูลในปี 2564 พบว่านักท่องเที่ยวมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ททท.จึงนำเสนอแนวคิด “เสน่ห์วันวาน เมืองเหนือ” เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการสัมผัสประสบการณ์จากอดีตที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลประเพณี อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังขอเชิญชวนเข้าสักการะวัดต่าง ๆที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวัดโบราณที่มีสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมที่มีความสวยงาม มีประวัติ เรื่องราวที่ถ่ายทอดส่งต่อจากอดีตจนถึงปัจจุบันให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้
สอบถามข้อมูลการจัดกิจกรรมน้ำทิพย์ปีใหม่เมืองเชียงใหม่ ได้ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โทร 092 208 0307 Facebook Page : โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ โทร.053 248 604