ย้อนรำลึกภาพแห่งประวัติศาสตร์ ความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ของมนุษยชาติ กับภาพถ่ายหลุมดำยักษ์ภาพแรกของโลก กับ 'หลุมดำมวลยวดยิ่ง' ห่างจากโลก 55 ล้านปีแสง
ข้อมูลจากเพจ Narit สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนย้อนรำลึกภาพแห่งประวัติศาสตร์ กับภาพหลุมดำขนาดยักษ์ที่มนุษย์ได้ประจักษ์เองกับตาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปีพ.ศ.2562 เวลา 20.00 น. นักวิทยาศาสตร์ได้เผยความสำเร็จในการบันทึกภาพ “หลุมดำยักษ์ หรือ หลุมดำมวลยวดยิ่ง” (Supermassive Black Hole) ได้เป็นครั้งแรกของโลก มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า เป็นนาทีประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยแหละ
หน่วยงานดาราศาสตร์แถลงผลงานวิจัยล่าสุดจากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซัน (Event Horizon Telescope : EHT) พวกเขาสามารถถ่ายภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งมันมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า
ลักษณะของหลุมดำ
หลุมดำยักษ์นี้ เราเรียกว่า “หลุมดำยักษ์ หรือ หลุมดำมวลยวดยิ่ง” (Supermassive Black Hole) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 55 ล้านปีแสง ตั้งอยู่ใจกลางกาแล็กซี M87 (Messier 87) จะสังเกตได้ว่าจะเห็นเงาดำขนาดใหญ่ถูกปกคลุมด้วยพลาสมาร้อนแดงไหลเข้ามา ทำให้แสงไม่สามารถเดินทางออกมาได้ ซึ่งเงามืดใจกลางหลุมนั้นมีขนาดประมาณ 40,000 ล้านกิโลเมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หอดูดาวสุริยคติเก่าแก่ที่สุดในโลกในปรู อายุ 2,300 ปี ถูกจารึกลง UNESCO แล้ว
ของขวัญวาเลนไทน์จากจักรวาล! สดร.เปิดภาพ "แหวนเพชรเม็ดโต" แห่งห้วงอวกาศ
Dont Look Up หนังที่พูดดาวหางพุ่งชนโลก วันสิ้นโลก และ #ผนงรจตกม
มีการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และข้อมูลที่รวบรวมไว้ก่อนหน้าด้วยกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าเหตุการณ์ นักวิทยาศาสตร์สร้างสแนปชอตเดียวและสร้างลำดับของภาพโดยใช้ข้อมูลจากปี 2009 ถึงปี 2017 และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้เห็นลักษณะของหลุมดำที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ซึ่งท้าทายแบบจำลองทางทฤษฎีไอพ่นรังสีของนักวิทย์ งานนี้นำโดย Michael Janssen จากสถาบัน Max Planck สำหรับดาราศาสตร์วิทยุในเมือง Bonn และ Radboud University Nijmegen
ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Science เผยว่า จากการสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของเวลาและสภาพของหลุมดำ หลุมดำของ M87 ดูเหมือนวงแหวนและจุดที่สว่างที่สุดหมุนรอบวงแหวนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น หลุมดำด้านซ้ายสว่างสุดปี 2011 แต่มืดที่สุดในปี 2013 ลักษณะที่ปรากฏของหลุมดำดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการแปรผันของสภาพแวดล้อม เช่น ความแรงของสนามแม่เหล็ก การหมุนเร็ว และการการเอียงของหลุมดำ
หลุมดำมวลยวดยิ่งแตกต่างจากหลุมดำทั่วไปยังไง?
มวลของหลุมดำประเภทนี้จะอยู่ในระดับล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และจะพบได้เฉพาะในใจกลางกาแล็กซีเท่านั้น เป็นเสมือนหัวใจหลักของแต่ละกาแล็กซี กาแล็กซี M87 ก็มีหลุมดำยักษ์อยู่ที่ใจกลางกาแล็กซีเช่นกัน ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ทราบเพียงว่า หลุมดำนี้ปลดปล่อยลำอนุภาคพลังงานสูงออกมา แต่ยังไม่เคยมีใครสามารถถ่ายภาพหลุมดำนี้ได้โดยตรง
ความสำเร็จอันยากลำบาก
แน่นอนว่าเรื่องดาราศาสตร์หรือการค้นพบสิ่งแปลกใหม่เกี่ยวกับจักรวาลและกาแล็กซีเป็นเรื่องที่ยาก ใช้ความชำนาญ และใช้งบประมาณมหาศาล ภาพถ่ายใบนี้ก็เช่นเดียวกันกว่าจะได้มานั้น ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและความร่วมมือจากนักดาราศาสตร์ นักวิจัยกว่า 200 ชีวิต และหน่วยงานดาราศาสตร์ 13 แห่งทั่วโลก การแถลงข่าวในการถ่ายภาพใบแรกนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของมนุษยชาติ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สูงที่สุดในการวิจัยด้านดาราศาสตร์
และที่ขาดไปไม่ได้คือ การถ่ายภาพครั้งนี้เปรียบเสมือนเครื่องยืนยันและพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากทฤษฎีของไอน์สไตน์ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ภาพถ่ายนี้ยังแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรายังมีขีดความสามารถที่ไม่จำกัดเพื่อความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ต่อไปได้ในอนาคต
ที่มา
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Eventhorizontelescope
Science