เพราะทุกวินาทีมีความหมายต่อชีวิตผู้ป่วย โรงพยาบาลศิริราช จึงทดลองนำรถพยาบาล 5G มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อช่วยชีวิตพวกเขาให้ทันท่วงที ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงการรักษาด้วย
อุปกรณ์ที่ติดอยู่ที่หน้าอกของผู้ป่วย เป็นกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูง เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องแสดงสัญญาณชีพ โดยเจ้าหน้าที่รถพยาบาลจะเปิดกล้องบันทึกภาพที่ติดอยู่บนหน้าอก และ สามารถส่งประวัติการรักษาให้แพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชผ่านเครือข่ายสัญญาณ 5G เพื่อฟังแนะนำการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้น
เมื่อสามารถสื่อสารกับคุณหมอได้ ในนาทีฉุกเฉิน แม้จะต้องฝ่าการจราจรสุดคับคั่ง ก็ช่วยให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่าเวลาทุกวินาทีมีความหมายต่อผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมาก และ นับตั้งแต่มีการเริ่มใช้งาน “รถพยาบาล 5G” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของหัวเหว่ย อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้น เพราะทันทีที่ส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล ทุกคนก็รู้ว่าต้องรับช่วงดูแลผู้ป่วยต่ออย่างไรภายในเวลาอันรวดเร็ว
“รถพยาบาล 5G” นำร่องโดยโรงพยาบาลศิริราชเป็นส่วนหนึ่งในโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G ของไทย เป็นโครงการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการนำ AI และเครือข่าย 5G ที่ทำให้การสื่อสารทำได้รวดเร็วแบบไม่มีสะดุด เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ในโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ ทางโรงพยาบาลศิริราช ใช้งานยานพาหนะไร้คนขับ หน้าตาคล้ายๆ หุ่นยนต์นี้ รับส่งยาระหว่างอาคาร ช่วยลดการติดต่อสัมผัสในยุคโควิดระบาดใหญ่ แพทย์สามารถรับผลซีทีสแกนความละเอียดสูงและสั่งจ่ายยาได้อย่างฉับไว
ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรมาพบหมอถึงโรงพยาบาลเหมือนแต่ก่อนเพราะโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คลาวด์ (Cloud) และ 5G สร้างสรรการตรวจวินิจฉัยที่ใช้ AI เป็นตัวช่วย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ของไทยไม่เท่ากัน พื้นที่ห่างไกลยังขาดแคลนทรัพยากรการแพทย์ เครือข่ายสัญญาณ 5G จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ หัวเหว่ยได้ใช้เทคโนโลยีช่วยให้การแพทย์อัจฉริยะ 5G ในไทยกลายเป็นจริง
การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยทางไกลจำเป็นต้องมีการส่งสัญญาณภาพที่ชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งเครือข่ายสัญญาณ 4G ไม่อาจตอบโจทย์ได้ แต่สัญญาณ 5G ช่วยให้ดาวน์โหลดภาพหรือคลิปวิดีโอทางการแพทย์ที่มีความละเอียดสูงในไม่กี่วินาที ทำให้การแพทย์ทางไกลมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
คุณหมอประสิทธิ์ บอกว่า ด้วยความร่วมมือกับหัวเหวยในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ ทำให้แพทย์ใช้เวลาวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละรายลดลงจาก 15 นาที เหลือเพียง 25 วินาทีเท่านั้น และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำของผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกนให้สูงถึงร้อยละ 97
เติ้งเฟิง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) มองว่า ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายที่ดี แต่การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ยังอยู่ในขั้นต้น โรงพยาบาลต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก 5G มาช่วยเหลือผู้ป่วย
หัวเหว่ย คาดหวังจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อัจฉริยะ 5G ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อบุกเบิกการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G บล็อกเชน และ ปัญญาประดิษฐ์ในทางการแพทย์
นอกจากนี้จะช่วยโรงพยาบาลศิริราชสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายสัญญาณ 5G และไฮบริด คลาวด์ ที่รับรองความปลอดภัยทางข้อมูลและสนับสนุนการอบรมบุคลากร โดยจะดึงคนรุ่นใหม่จากหัวเหว่ย โรงพยาบาล และสตาร์ตอัพไทย มาร่วมพัฒนาการแพทย์แบบตรงจุดและบริการที่ดียิ่งขึ้น
โครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G ของโรงพยาบาลศิริราช ที่หัวเหว่ยร่วมดำเนินงานอย่างเป็นทางการโครงการแรกในภูมิภาคอาเซียน หัวเหว่ยยังวางแผนกระจายแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ไปยังโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ของไทยในปีนี้ด้วย