หมอยงยืนยัน "วัคซีนโควิด" สามารถป่วยหนัก-เสียชีวิตได้ดี จำเป็นต้องฉีดเข็ม 4 เพื่อกระตุ้นภูมิให้อยู่ได้นานขึ้น อย่าหลงเชื่อข่าวลือวัคซีนไม่มีประโยชน์
เป็นที่ทราบกันดีว่า โควิดระลอกที่ 4 ของไทยในปัจจุบัน เกิดจากไวรัสโอไมครอน ซึ่งมีการแพร่เชื้อติดต่อกันได้ง่ายมาก แต่มีความรุนแรงน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตน้อยกว่าไวรัสเดลตา
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ประเด็น แนวทางการฉีด "วัคซีนโควิด" โดยระบุว่า
วัคซีนโควิด วัคซีนมีประโยชน์ป้องกันความรุนแรง และเสียชีวิต เป็นที่แน่นอนและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ วัคซีนกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานทั้งระบบ B เซลล์สร้างภูมิต้านทาน และระบบ T เซลล์ช่วยในการกำจัดไวรัสและลดความรุนแรงของโรค
วัคซีนโควิดทุกชนิด มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตอย่างได้ชัดเจน จะเห็นได้จาก ก่อนมีวัคซีนอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง หลังจากที่ประชากรได้รับวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนมากขึ้น อัตราการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ส่อง 4 วัคซีนโควิด19 สัญชาติไทย รอขึ้นทะเบียน อย. มีวัคซีนอะไรบ้าง
• เทียบประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 กลุ่ม 608 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันป่วยหนักได้แค่ 4%
• หมอเฉลิมชัย แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ผู้สูงอายุ ก่อนสงกรานต์ คุมป่วยหนัก-ตาย
ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบ B เซลล์จะลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป ทำให้การป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้น เพื่อให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้นเพียงพอ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และเมื่อกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นระยะเวลายาวนาน ภูมิต้านทานในระบบนี้ก็จะลดลงอีก จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระตุ้นอีกครั้ง ใน 4-6 เดือนหลังเข็มสาม เพื่อให้ภูมิสูงขึ้นและอยู่นานขึ้น
อัตราการเสียชีวิตของประเทศไทย ขณะนี้ยังพบได้สูงในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือ ฉีดวัคซีนไม่ครบ
การลดความรุนแรงและเสียชีวิตเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก
ข้อมูลที่มีคนตัดต่อเอาเฉพาะส่วนไปเผยแพร่ ทำให้มีการเข้าใจผิดว่าวัคซีนโควิดไม่มีประโยชน์จึงเป็นเรื่องไม่จริง ทำให้เกิดความสับสนและเกิดผลเสียหายต่อประชากรโดยส่วนรวม นับเป็นการสร้างปัญหาให้กับคนหมู่มาก
การตัดบางส่วนไปเป็นหัวข้อข่าว โดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อในทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ที่มา : Yong Poovorawan