พาส่องภาษี e-Service ที่เริ่มเก็บไปเมื่อปี 2564 รู้หรือไม่ ไทยรีดภาษี e-Service แพลตฟอร์มต่างแดน 5 เดือนแรก 3,000 ล้านบาท ต่างชาติขนเงินกลับบ้าน 44,569 ล้าน บาท จะดีไม่น้อยถ้าไทยพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้เอง เงินไม่รั่วไหล
แพลตฟอร์มออนไลน์ยังคงมาแรง ต่างชาติแห่ลงทุนในไทย
ปัจจุบันธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์มาแรงมาก ๆ ทั้งในไทย และทั่วโลก จึงทำให้มีหลายบริษัทกำลังเร่งพัฒนาService แพลตฟอร์มบนออนไลน์เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัล โดยแพลตฟอร์มบนออนไลน์ที่มาแรงก็มีในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม โฆษณา เพลง หนัง เกมส์ แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง ขายสินค้าออนไลน์ แพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง และอื่นๆอีกมากมาย โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ในอนาคตจะมีมากขึ้น และหลากหลายเรื่อยๆ มีทั้งแบรนด์ไทย แบรนด์นอก ลัดฟ้าข้ามห้วยมาตีตลาด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ประเดิมเก็บภาษี e-Service แพลตฟอร์มต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) ที่มาทำธุรกิจในไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
T&B Media Global ประกาศร่วมมือพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์ม NFT มุ่งสู่ Metaverse
พารู้จัก METALEX Digital Community ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ช่วยเจรจาธุรกิจง่ายขึ้น
เปิดเนื้อหา พ.ร.ฎ.คุมแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องแจ้งให้ทราบ ไทยได้อะไร ?
5 เดือนไทยเก็บภาษี e-Service 3,120 ล้านบาท
ว่าด้วยเรื่องภาษี e-Service ล่าสุดกรมสรรพากร ได้เริ่มเก็บจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องเป็นแพลตฟอร์มต่างชาติที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี โดยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% วันนี้ #สปริงนิวส์ พามาอัพเดทว่า ช่วง 5 เดือน ที่ผ่านมา (กันยายน 2564-มกราคม 2565) ไทยจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,120 ล้านบาท และต่างชาติมีรายได้จากกว่าทำธุรกิจสูงถึงมูลค่ 44,569 ล้านบาท สามารถสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
1. โฆษณาออนไลน์ 28,013 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,960 ล้านบาท
2. เพลง หนัง เกมส์ 4,023 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 281 ล้านบาท
3.แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง 367 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 25 ล้านบาท
4.ขายสินค้าออนไลน์ 11,982 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 838 ล้านบาท
5.แพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง 182 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 12 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าไทยเก็บภาษี e-Service ได้จำนวนไม่น้อย และแพลตฟอร์มต่างชาติก็โกยรายได้จากไทยไปไม่น้อย จึงมีหลายคน บอกว่าจะดีไม่น้อย ถ้าไทยพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้เอง เงินก็จะไม่รั่วไหล โดย
“นายปฐม อินทโรดม’ อุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย บอกว่า คนไทยรุ่นใหม่ใช้ชีวิตในโลกคู่ขนานบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ หมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายในชีวิตดิจิทัล เช่น การเป็นสมาชิก เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) Spotify ใช้ชีวิตกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่พึ่งพาโกลบอลแพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด19 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องประสานเสียงเพื่อเร่งสนับสนุนร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยในโลกยุคดิจิทัลสู้กับแพลตฟอร์มต่างชาติที่มาโกยเงินบ้านเรา แม้ว่าไทยเราจะเก็บภาษี e-Service ได้ก็ตาม
ไทยเดินหน้าสร้างไทยแลนด์แพลตฟอร์ม หนุนธุรกิจ ชิงส่วนแบ่งต่างชาติ
อย่างไรก็ตามยังมอง อีกว่า ประเทศไทยมีผู้ผลิตคอนเทนต์ที่แข็งแรง ผลิตคอนเทนต์คุณภาพที่ไปเติบโตในหลายประเทศโมเดลของการสร้างไทยแลนด์แพลตฟอร์ม ควรจะเป็นในรูปของภาครัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการ รัฐต้องไม่ลงไปแข่งขันกับเอกชน ภาครัฐควรเล่นบทเป็น Facilitator หรือจะเป็น Regulator ก็ได้
โดย ‘ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์’ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มองว่า ถ้าไทยมีแพลตฟอร์มของตัวเอง สามารถกำกับดูแลได้ง่าย และ ครอบคลุม เพราะที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากกว่า 4 หมื่นเรื่อง แต่ไม่สามารถจัดการได้หมด เพราะไม่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย และ ไม่มีกฎหมายควบคุม ดังนั้น ETDA อยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย เพื่อใช้ควบคุมแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันควบคู่กับการคุ้มครองผู้บริโภค
‘ดร.ชัยชนะ’ บอกอีกว่า ภาครัฐกำลังขับเคลื่อน ในหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูล และ ผลักดันให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นของตัวเอง โดยบทบาทที่ภาครัฐทำ คือ ชวนคนที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน และ ขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานร่วมกัน เกิดการระดมสมอง ระดมทุน เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มประเทศไทย
ขณะที่ ‘ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ’ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) กล่าวว่า DGA หวังจะสร้างแพลตฟอร์มกลางของภาครัฐ นำไปสู่การให้บริการประชาชน และ บูรณาการข้อมูลของรัฐเข้าด้วยกัน เพื่อเปิดให้ประชาชนรวมถึงเอกชนเข้ามาใช้บริการ แพลตฟอร์มที่เริ่มไปแล้ว คือ แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ที่เปิดให้หน่วยงานภาครัฐนำบริการต่างๆ มาอยู่บนแฟลตฟอร์มเดียวกัน เป็นแพลตฟอร์มกลางของรัฐ และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันด้วย
พร้อมกันนี้สนับสนุนให้เกิดการสร้างไทยแลนด์ แพลตฟอร์ม โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดไทยแลนด์ แพลตฟอร์ม คือ ภาครัฐต้องลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน และรัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐไม่ควรทำเอง เพราะไม่คล่องตัว ดังนั้นทางออกควรจะต้องหาจุดแข็งของรัฐและเอกชนมาเสริมกัน